LINE

ภาษาไทย

ข้อกำหนดการให้บริการไลน์เพย์สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า

 

ข้อกำหนดการให้บริการไลน์ เพย์ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า ("ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า") นี้ ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่าง บริษัท ไลน์ เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (ทะเบียนเลขที่ 0135554009220) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ("บริษัท") กับ ผู้ประกอบการร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ประกอบการร้านค้าประเภทออฟไลน์ ("ผู้ประกอบการร้านค้า") ผูกพันให้บริษัทจะต้องให้บริการ (ตามที่ระบุข้างล่าง) แก่ผู้ประกอบการร้านค้า (ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "คู่สัญญา" และทั้งสองฝ่ายรวมกันเรียกว่า "คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย") 

 

ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้จะใช้บังคับกับการให้บริการของบริษัทในกรณีดังต่อไปนี้ (1) การให้บริการตรวจสอบบัตรเครดิต (รวมถึงบัตรเดบิต) ("บัตรเครดิต") (ถ้าใช้ประโยชน์ได้) และ (2) การให้บริการเรียกเก็บเงินและโอนเงิน (รวมเรียกว่า "บริการ") ให้กับผู้ประกอบการร้านค้า สำหรับการดำเนินการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และ/หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยลูกค้าผู้ใช้ไลน์ เพย์ ("ผู้ใช้ไลน์ เพย์") สำหรับจำนวนเงิน ("มูลค่าธุรกรรม") ที่ถึงกำหนดชำระให้แก่ ผู้ประกอบการร้านค้า สำหรับการซื้อสินค้า บริการ และ/หรือ เนื้อหาเกี่ยวกับดิจิตอล ("สินค้าและบริการ") ("ธุรกรรม") ที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้จำหน่ายบนร้านค้าออนไลน์หรือร้านค้าออฟไลน์ อันเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบการร้านค้า ("ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" (Platform)) 

 

ในกรณีที่บริษัทในเครือของบริษัท ไลน์ เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ("บริษัทในเครือของไลน์ เพย์") เป็นผู้ให้บริการนั้น จะถือว่าข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าเป็นสัญญาระหว่างบริษัทในเครือของไลน์ เพย์ กับผู้ประกอบการร้านค้า และจะถือว่าบริษัทในเครือของไลน์ เพย์นั้น เป็นคู่สัญญาที่ต้องรับผิดชอบตามข้อกำหนดในการให้บริการภายใต้ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ ในการกล่าวถึง "บริษัท" หรือ "เรา" ในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ ให้หมายถึงบริษัท ไลน์ เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัทในเครือของไลน์ เพย์ แล้วแต่กรณี

 

ผู้ประกอบการร้านค้ารับทราบและตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอสมัครใช้บริการกับบริษัท และตกลงที่จะหยุดใช้บริการทันที หากผู้ประกอบการร้านค้าไม่ตกลงตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ทั้งนี้ การใช้หรือจะใช้บริการต่อไป ถือว่าผู้ประกอบการร้านค้ายอมรับและตกลงที่จะผูกพันตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งรวมถึงการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงใดของข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ที่อาจมีขึ้นในภายหลัง ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าสามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ https://terms2.line.me/paymerchant_TOS_TH?lang=th

เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัย บริษัทไม่ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรเพื่อให้บริการชำระหนี้ เพียงแต่ให้บริการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ทั้งนี้การชำระหนี้ และการโอนเงินทั้งหมดจะต้องดำเนินการโดยสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องหรือธนาคาร ซึ่งบริษัทจะระบุรายละเอียดเป็นครั้งคราว
 

1. คำขอ การตรวจสอบและการเริ่มต้นใช้งาน
 

1.1 ผู้ประกอบการร้านค้าซึ่งจำหน่ายสินค้าและบริการอันเป็นทรัพย์สินของตนผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" อาจจะสมัครเพื่อขอใช้บริการของบริษัทตามระเบียบที่กำหนดโดยบริษัทเป็นครั้งคราว โดยการสมัครขอใช้บริการที่บริษัทจัดไว้ให้ ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงที่จะยอมรับและผูกพันตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า เช่นเดียวกันกับข้อกำหนดในการให้บริการทั่วไปของไลน์ เพย์ ("เงื่อนไขทั่วไปของไลน์ เพย์")
 

1.2 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องจัดหาข้อมูลที่สำคัญทั้งหมดตามที่บริษัทต้องการให้กับบริษัท เมื่อสมัครขอใช้บริการที่จัดให้ ซึ่งประกอบไปด้วย 
 

1.2.1 รายละเอียดการระบุตัวผู้แทนของผู้ประกอบการร้านค้า บุคคลที่รับผิดชอบและผู้ประกอบการทางธุรกิจ
 

1.2.2 ขอบเขตและวัตถุประสงค์ของธุรกรรมซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าจะดำเนินการผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" 
 

1.2.3 ข้อมูลเกี่ยวกับใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับการได้รับอนุมัติตามกฎระเบียบสำหรับการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการร้านค้า
 

1.2.4 คำอธิบายรายละเอียดของสินค้าและบริการ ที่จำหน่ายหรือปรากฏฎเป็นรายการบน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" และ
 

1.2.5 นโยบายภายในของผู้ประกอบการร้านค้าเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องการฉ้อโกง การฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย รวมถึงนโยบายการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกรรมที่ได้ทำผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" นั้นเป็นธุรกรรมที่แท้จริง กระทำโดยสุจริต และไม่ผิดกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี
 

1.3 บริษัทอาจจะขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งถือว่าจำเป็นในการขอสมัครใช้บริการตามที่รายละเอียดของแบบคำขอใช้บริการที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 1 ซึ่งแนบท้ายข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ ("คำขอ") ที่ยื่นโดยผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการร้านค้ารับประกันและรับรองว่าข้อมูลทั้งหมดที่ได้ให้ไว้กับบริษัทนั้น เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแจ้งต่อบริษัทในทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ในข้อมูลที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ให้ไว้กับบริษัท ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่สามารถที่จะแจ้งให้บริษัททราบถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในข้อมูลที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้ภายในระยะเวลาอันสมควร หรือข้อมูลที่ผู้ประกอบการร้านค้าให้ไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นความจริง บริษัทอาจจะปฏิเสธคำขอ ระงับ และ/หรือยกเลิกข้อกำหนดทั้งหมดหรือบางส่วนในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการร้านค้า โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 

 

1.4 บริษัทมีดุลยพินิจเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการพิจารณาว่าจะอนุมัติคำขอที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ยื่นขอสมัครใช้บริการของบริษัทหรือไม่ก็ได้ และไม่มีหน้าที่ที่จะเปิดเผยกระบวนการในการพิจารณาคำขอแก่ผู้ยื่นคำขอใดๆ บริษัทจะไม่รับผิดชอบในการสูญหายหรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดจากการที่ผู้ยื่นคำขอไม่ผ่านกระบวนการพิจารณา
 

1.5 ผู้ประกอบการร้านค้าจะสร้างบัญชีของตนเอง ("บัญชีใช้บริการ") และรหัสผ่านสำหรับการใช้บริการ ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถใช้บริการเมื่อบริษัทได้อนุมัติคำขอและภายหลังจากที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้สร้างบัญชีใช้บริการแล้ว

 

2. ข้อตกลงของผู้ประกอบการร้านค้า
 

2.1 บริษัทจะต้องให้บริการด้วยความระมัดระวังและความเชี่ยวชาญตามสมควร และเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (รวมทั้ง "ข้อกำหนดทั่วไปของไลน์ เพย์" และนโยบายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว)
 

2.2 ผู้ประกอบการร้านค้ารับทราบและตกลงว่า ผู้ประกอบการร้านค้ามีสิทธิที่จะใช้บริการในการรับชำระเงินจากมูลค่าธุรกรรมที่ได้กระทำผ่านบัตรเครดิตที่ได้รับอนุมัติล่วงหน้าจากบริษัทเท่านั้น และบริษัทได้แจ้งผู้ประกอบการร้านค้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งคราว หรือเป็นธุรกรรมที่ได้กระทำผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ใช้ไลน์ เพย์ เท่านั้น
 

2.3 ผู้ประกอบการร้านค้ารับทราบและตกลงว่าความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างผู้ใช้ไลน์ เพย์ และผู้ประกอบการร้านค้าในส่วนข้อกำหนดที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในการทำธุรกรรม วิธีการทำธุรกรรม และข้อกำหนดและการดำเนินการหรือการไม่ดำเนินการของธุรกรรม (รวมถึง แต่ไม่จำกัดเฉพาะ การปฏิเสธที่จะดำเนินการ ความล่าช้า การไม่ส่งมอบ ความชำรุดบกพร่อง ความผิดพลาด การคืนหรือเปลี่ยนสินค้าและบริการ และการคืนเงิน) เป็นข้อตกลงที่มีขึ้นระหว่างผู้ใช้ไลน์ เพย์ กับผู้ประกอบการร้านค้าเท่านั้น โดยสิทธิและหน้าที่ทั้งหมด และความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น จะเป็นการบังคับใช้ ปฏิบัติ และรับผิดชอบระหว่างผู้ใช้ไลน์ เพย์และผู้ประกอบการร้านค้า ตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและมีการบังคับใช้ และตามข้อตกลงของผู้ใช้ไลน์ เพย์กับผู้ประกอบการร้านค้า บริษัทจะรับผิดชอบเพียงการตรวจสอบบัตรเครดิต และการเรียกเก็บเงิน รวมถึงการโอนเงินทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนในมูลค่าธุรกรรมที่ถึงกำหนดชำระแล้วจากผู้ใช้ไลน์ เพย์ให้กับผู้ประกอบการร้านค้า โดยเป็นไปตามข้อบังคับและกฎหมายที่บังคับใช้ ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า และข้อกำหนดทั่วไปของไลน์ เพย์
 

2.4 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงว่า การให้บริการของบริษัทไม่ได้กระทำการในฐานะเป็นตัวการ แต่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกแทนผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าเข้าทำธุรกรรมกับผู้ใช้ไลน์ เพย์เท่านั้น ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงให้บริษัทดำเนินการในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการรับและโอนมูลค่าธุรกรรมที่เกี่ยวข้องที่ชำระโดยผู้ใช้ไลน์ เพย์ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการใน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" และบันทึกข้อมูลของธุรกรรมนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าสละสิทธิที่จะเรียกร้องต่อบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกรรมใดๆ ระหว่างผู้ใช้ไลน์ เพย์กับผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งดำเนินธุรกรรมผ่านบริการของบริษัทที่ทำให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า
 

2.5 ผู้ประกอบการร้านค้ามีความรับผิดชอบตามกฎหมายและมีหน้าที่แต่เพียงฝ่ายเดียวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก (1) นิติสัมพันธ์ตามสัญญากับผู้ใช้ไลน์ เพย์ รวมถึงสิ่งที่ได้มาจากสิทธิและความรับผิดชอบใดๆ การรับประกันในเรื่องความชำรุดบกพร่องและสิทธิทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีระหว่างผู้ประกอบการร้านค้ากับผู้ใช้ไลน์ เพย์ และ/หรือ (2) ตามกฎระเบียบและกฎหมายที่บังคับใช้ใดๆ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 (1979) (ตามที่แก้ไข) ในกรณีที่บริษัทได้รับการสูญหายหรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ประกอบการร้านค้าที่มิได้ปลดเปลื้องตนเองให้พ้นความรับผิดชอบทางกฎหมายและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ข้างต้นในข้อ 2.5 นี้ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่มีเงื่อนไขให้กับบริษัททันที และ/หรือ ชดใช้และชดเชยให้กับบริษัทต่อความรับผิดใดๆ ที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว
 

2.6 บริษัทมีสิทธิในการตรวจสอบสินค้าและบริการที่ได้ทำธุรกรรม หรือบริการที่ทำโดยผู้ประกอบการร้านค้า ในกรณีที่กำหนดไว้ ผู้ประกอบการร้านค้ามีหน้าที่ระบุรายละเอียดของสินค้าและบริการนั้น และระบุเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) ให้กับบริษัทและจะต้องทำให้แน่ใจว่าเอกสารที่ยื่นสนับสนุนคำขอให้ชำระเงินนั้นถูกต้อง

2.7 หากผู้ประกอบการร้านค้า และ ผู้ใช้ไลน์ เพย์ตกลงที่จะเพิกถอน ยกเลิก หรือบอกเลิกธุรกรรมใดๆ หรือเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ได้ซื้อหรือราคาธุรกรรมหลังจากบริษัทได้โอนมูลค่าธุรกรรมที่เกี่ยวข้องไปให้กับผู้ประกอบการร้านค้าแล้ว ผู้ประกอบการร้านค้าควรจะแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเพิกถอน ยกเลิก หรือบอกเลิกธุรกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อบริษัททันที และจัดหาบันทึกคืนเงิน (refund note) รวมถึงเอกสารสนับสนุนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้แก่บริษัทภายในระยะเวลาที่ระบุในนโยบายการคืนเงินของบริษัท โดยส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือทำเป็นลายลักษณ์อักษร หากบริษัทร้องขอ อย่างไรก็ดี เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัย ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่คืนเงินค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์เป็นเงินสดโดยตรงเว้นแต่บันทึกคืนเงิน (refund note) ตามที่กล่าวข้างต้นไม่ได้ถูกจัดส่งให้แก่บริษัทภายในระยะเวลาที่ระบุในนโยบายการคืนเงินของบริษัท
 

2.8 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงที่จะให้ความร่วมมือกับบริษัทในการที่จะอนุญาตให้บริษัทหรือผู้แทนหรือตัวแทนของบริษัทเข้าไปทำการตรวจสอบบัญชี (รวมถึงการตรวจสอบบันทึกทางธุรกรรม ความผิดปกติในธุรกรรมหรือบันทึกสินเชื่อที่เก็บไว้โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงว่าบริษัทผู้ได้รับบัตรเครดิต ("ผู้ได้รับบัตร") หรือ องค์กรผู้ออกบัตรเครดิตระหว่างประเทศ (ถ้ามี) มีสิทธิที่จะกระทำการตามที่จำเป็นในการตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ของผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลธุรกรรมนั้นมีความมั่นคงปลอดภัย
 

2.9 บริษัทมีสิทธิที่จะขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าเข้ารับการอบรมเป็นครั้งคราว (รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการฝึกอบรมการอนุมัติบัตร (card authorization)) และมีสิทธิตรวจสอบผลของการฝึกอบรมนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องร่วมมือกับบริษัทในการป้องกันธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือต้องสงสัยหรือฉ้อโกง และให้ความร่วมมือกับบริษัทในการจัดการเรื่องที่เกี่ยวข้องนั้น
 

2.10 ผู้ประกอบการร้านค้าจะทำการเสนอขายสินค้าและบริการผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" แก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ ตามประเภทของสินค้าและบริการที่บริษัทกำหนด เพื่อให้ผู้ใช้ไลน์ เพย์สามารถส่งคำสั่งซื้อ และ/หรือ คำขอใช้บริการ และทำการชำระเงินค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าผ่านทาง "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ของผู้ประกอบการร้านค้า ตามวิธีการที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าฉบับนี้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและบริการดังต่อไปนี้ให้ผู้ใช้ไลน์ เพย์ทราบ โดยผู้ประกอบการร้านค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวเองทั้งสิ้น และผู้ประกอบการร้านค้าจะเก็บหลักฐานที่แสดงว่าได้แจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้แก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์
 

2.10.1 ข้อมูลรายละเอียดของสินค้าและบริการของผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงลักษณะ คุณภาพ และโฆษณาเผยแพร่ของสินค้าและบริการดังกล่าว (ถ้ามี)
 

2.10.2 เงื่อนไขในการคืนหรือยกเลิกสินค้าและบริการ และการคืนเงินค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์
 

2.10.3 สถานที่ตั้งสำนักงานหรือที่ทำการ รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร และ/หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (email address) ของผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อให้ผู้ใช้ไลน์ เพย์สามารถติดต่อได้โดยสะดวก
 

2.10.4 ราคาสินค้าและบริการซึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินตราต่างประเทศ (ถ้ามี)
 

2.10.5 รายละเอียด ขั้นตอน วิธีการและระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าและบริการแก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ รวมทั้งขั้นตอนในการรับมอบสินค้าและบริการของผู้ใช้ไลน์ เพย์ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะการส่งสินค้าและบริการแก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ และ
 

2.10.6 นโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายการรักษาความปลอดภัยของผู้ประกอบการร้านค้าและเว็บไซต์ที่ให้บริการ
 

2.11 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งสินค้าและบริการตามธุรกรรมที่ระบุไว้ในเอกสารโฆษณาเผยแพร่ หรือตามรายละเอียดของสินค้าและบริการที่ระบุไว้บน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" หรือระบุโดยผู้ประกอบการร้านค้า ทั้งนี้การส่งมอบสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวหมายรวมถึงเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการหาแหล่งสินค้าและบริการ การเลือกสรรและตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการ การสั่งสินค้าจากผู้ผลิต การนำเข้า การดำเนินขั้นตอนศุลกากร การชำระภาษีอากร ค่าจัดส่ง รวมถึงค่าไปรษณีย์ การรับคืนและเปลี่ยนสินค้า การประกันการส่งสินค้า การจัดหาอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการและหน้าที่อื่นๆ (ถ้ามี) ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าและบริการ

 

2.12 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องส่งสินค้าและบริการด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานให้แก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในเอกสารโฆษณาเผยแพร่ และ/หรือ ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในบน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" หรือตามที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ระบุไว้


2.12.1 กรณีที่เป็นการขายสินค้า สินค้าจะต้องอยู่ในสภาพที่ดี ปราศจากการชำรุดบกพร่องหรือมีตำหนิ ทั้งนี้ ในการส่งสินค้าไปให้แก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องมีใบตอบรับหรือหลักฐานใดๆ ที่ผู้รับปลายทางลงนามเป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่า สินค้านั้นได้ส่งถึงผู้รับแล้วทุกครั้ง และผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องเก็บใบตอบรับการส่งของ หรือเอกสารหลักฐานการได้รับสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อการตรวจสอบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 (เจ็ด) ปี นับแต่วันที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้รับเอกสาร และจะต้องส่งมอบให้แก่บริษัททันทีเมื่อบริษัทได้ร้องขอ หรือ


2.12.2 กรณีที่เป็นการให้บริการ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องให้บริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่ระบุไว้ในเอกสารโฆษณาเผยแพร่ หรือตามรายละเอียดที่ระบุบน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์"


2.12.3 ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่สามารถจะจัดส่งสินค้าและบริการแก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ได้ตามที่ระบุไว้ในเอกสารโฆษณาเผยแพร่ หรือรายละเอียดที่ระบุไว้บน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด โดยมีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนความจำเป็นดังกล่าวอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้ไลน์ เพย์ทราบ เพื่อแจ้งยกเลิกธุรกรรมต่อไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าฉบับนี้


2.13 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องดำเนินการให้ผู้ใช้ไลน์ เพย์ระบุชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆ ของผู้ใช้ไลน์ เพย์ตามที่บริษัทกำหนดให้ครบถ้วน และผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องจัดทำบันทึกทางธุรกรรมในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีรายละเอียดและรูปแบบตามที่บริษัทกำหนดและได้แจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้า (“บันทึกทางธุรกรรม”) และนำส่งบันทึกทางธุรกรรมดังกล่าวให้แก่บริษัทผ่านทางอินเตอร์เน็ตหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามขั้นตอนที่บริษัทกำหนดและได้แจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้า ในการนำส่งบันทึกทางธุรกรรมให้แก่บริษัทดังกล่าว ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงและรับทราบว่าบันทึกทางธุรกรรมดังกล่าวจะต้องสร้างผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ของผู้ประกอบการร้านค้าที่เสนอขายสินค้าและบริการ และเป็นผู้ประกอบการร้านค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น กรณีเป็นการรับบันทึกทางธุรกรรมด้วยวิธีการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าฉบับนี้ วิธีการจัดทำบันทึกทางธุรกรรมและวิธีการนำส่งบันทึกทางธุรกรรมให้แก่บริษัท ให้เป็นไปตามที่บริษัทกำหนดและได้แจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้า อนึ่ง ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องรักษารูปแบบและวิธีการส่งบันทึกทางธุรกรรมตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้ และจะเก็บเป็นความลับ ไม่เปิดเผยหรือแจ้งให้ผู้ใดทราบโดยเด็ดขาด หากผู้ประกอบการร้านค้าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท และ/หรือบุคคลภายนอกอื่นใด  ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น 

 

2.14 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องขออนุมัติธุรกรรมเพื่อการหักบัญชีเงินฝากของผู้ใช้ไลน์ เพย์หรือขออนุมัติวงเงินบัตรเครดิตสำหรับธุรกรรมทุกรายการ ก่อนการส่งมอบสินค้าและบริการแก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนมูลค่าธุรกรรมเท่าใด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้ารับทราบว่า ในกรณีของการซื้อสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิต การอนุมัติธุรกรรมดังกล่าว เป็นเพียงการตรวจสอบวงเงินบัตรเครดิตของผู้ใช้ไลน์ เพย์ว่ามีเพียงพอสำหรับการซื้อสินค้าและบริการในครั้งนั้นๆ หรือไม่เท่านั้น มิได้เป็นการตรวจสอบว่าผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นผู้ถือบัตรโดยถูกต้องแท้จริง หรือบัตรเครดิตที่นำมาใช้ซื้อสินค้าและบริการเป็นบัตรปลอมหรือสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้หรือไม่ หากมีการปฏิเสธจากผู้ใช้ไลน์ เพย์หรือผู้ที่เป็นเจ้าของบัตรเครดิตว่ามิได้เป็นผู้ทำธุรกรรม หรือบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นบัตรปลอม หรือไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้ประกอบการร้านค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) ทุกประการ แม้ว่าธุรกรรมนั้นจะได้รับการอนุมัติแล้วก็ตาม 

อนึ่ง ผู้ประกอบการร้านค้ายอมรับว่าบริษัทมีสิทธิที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติธุรกรรมใดๆ ก็ได้ แม้ว่าผู้ใช้ไลน์ เพย์จะยังใช้บัตรเครดิตไม่เต็มวงเงินหรือมีเงินในบัญชีเพียงพอให้หักบัญชีก็ตาม ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องชี้แจงแสดงเหตุแต่ประการใด และการอนุมัติหรือไม่อนุมัติธุรกรรมดังกล่าวให้ถือเป็นที่สุด และผู้ประกอบการร้านค้าจะไม่ถือเป็นเหตุเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากบริษัท


2.15 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องสรุปบันทึกทางธุรกรรมตามรูปแบบและวิธีการที่บริษัทกำหนดและได้แจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้า และนำส่งให้แก่บริษัทเพื่อดำเนินการเรียกเก็บเงิน (Settlement) ภายใน 7 (เจ็ด) วัน นับแต่วันที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้รับอนุมัติธุรกรรม โดยผู้ประกอบการร้านค้ายอมรับว่าบริษัทไม่มีหน้าที่ตรวจสอบว่าสรุปบันทึกทางธุรกรรมดังกล่าวมีรายละเอียดถูกต้องหรือไม่ และตกลงให้ถือว่ารายละเอียดในข้อมูลบันทึกทางธุรกรรมที่บริษัทได้รับเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับให้บริษัทดำเนินการตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าฉบับนี้ได้ทุกประการ

กรณีเป็นการรับธุรกรรมผ่านวิธีการอื่น วิธีการเรียกเก็บเงินให้เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด และแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นกรณีๆ ไป


2.16 ผู้ประกอบการร้านค้าจะแจ้งแก่บริษัท ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้า (1) เลิกประกอบธุรกิจ (2) เปลี่ยนแปลงประเภทธุรกิจหรือประเภทของสินค้าและบริการ ที่นำเสนอผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

 

3. การเก็บรักษาบันทึกทางธุรกรรม
 

3.1 เอกสารเกี่ยวกับธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการร้านค้า กับผู้ใช้ไลน์ เพย์ (รวมถึงบันทึกอิเล็กทรอนิกส์ของข้อความที่เกี่ยวกับธุรกรรม รหัสการอนุญาตเกี่ยวกับธุรกรรม และตัวเลขธุรกรรม) และใบเสร็จที่เกี่ยวข้อง ใบสำคัญการจ่ายเงิน จะได้รับการเก็บรักษาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ในกรณีที่มีข้อพิพาทใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้น บริษัทอาจจะขอให้ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้พิสูจน์ในเวลาใดก็ได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่สามารถที่จะส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับธุรกรรมให้กับบริษัทเพื่อตรวจสอบได้ภายใน 7 วันเมื่อบริษัทร้องขอ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคืนจำนวนเงินโอนให้กับบริษัทในจำนวนที่บริษัทได้โอนไปให้ผู้ประกอบการร้านค้า อันสืบเนื่องมาจากการทำธุรกรรม หรือบริษัทอาจจะหักกลบลบหนี้จำนวนนั้นจากยอดเงินอื่นที่บริษัทจะต้องชำระให้กับผู้ประกอบการร้านค้า
 

3.2 ผู้ประกอบการร้านค้ารับทราบและตกลงว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่ได้เก็บรักษาเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมใดๆ เช่นนั้นแล้ว บันทึกที่บริษัทเก็บไว้เกี่ยวกับธุรกรรมนั้นจะถือว่าถูกต้องแท้จริง 

 

4. ข้อมูลบัญชีและวิธีการจ่ายเงิน
 

4.1 บริษัทจะต้องฝากเงินมูลค่าธุรกรรมที่ถึงกำหนดชำระแก่ผู้ประกอบการร้านค้า อันเกิดจากการทำธุรกรรมที่ได้กระทำผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ระหว่างผู้ประกอบการร้านค้ากับผู้ใช้ไลน์ เพย์ ไว้ในบัญชีธนาคารที่แยกออกมาเฉพาะของบริษัท และจะแยกเก็บต่างหากจากเงินทุนของบริษัทที่ใช้การประกอบการ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ผู้ใช้ไลน์ เพย์มีสิทธิยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการร้านค้า (Cooling Off) หรือเมื่อได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการชำระเงินระหว่างบริษัทกับผู้ประกอบการร้านค้า บริษัทจะต้องโอนมูลค่าธุรกรรมที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะได้รับไปยังบัญชีธนาคารที่เปิดใช้อยู่ของผู้ประกอบการร้านค้า ตามที่ได้กำหนดในข้อ 11 ("บัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า") ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าได้ให้ไว้ เมื่อได้ยื่นคำขอใช้บริการ ภายหลังจากที่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ที่บริษัทจะได้รับ
 

4.2 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดจากการโอนเงินใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะการโอนเงินมูลค่าธุรกรรมที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะได้รับ ไม่ว่าธุรกรรมจะถูกเพิกถอน ยกเลิก หรือบอกเลิกหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัย บริษัทจะไม่คืนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ไม่ว่าในกรณีใดๆ
 

4.3 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของผู้ประกอบการร้านค้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบัญชีการให้บริการ โดยห้ามมิให้มีการโอนสิทธิ ให้ หรือยกบัญชีการให้บริการเป็นมรดก ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่ประสงค์ที่จะต่อสัญญากับบริษัท ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องทำคำขอเพื่อยกเลิกบัญชีการใช้บริการ
 

4.4 บริษัทมีสิทธิที่จะระงับการชำระเงินใดๆ ที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะได้รับ หากบริษัทด้วยดุลยพินิจเด็ดขาดแต่ผู้เดียวมีเหตุอันสมควรที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้ประกอบการร้านค้าอาจหรือจะหยุดประกอบกิจการ หรือผู้ประกอบการร้านค้าอาจหรือจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีการดำเนินการชำระบัญชี ผู้ประกอบการร้านค้ามีการประนอมหนี้ ล้มละลาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์ การจัดแบ่งทรัพย์สิน หรือเลิกกิจการ (หรือที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่กล่าวมาในเขตอำนาจศาลใดๆ ก็ตาม) หรือหากบริษัทได้รับการแจ้งจากศาลใดๆ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจอื่นๆ หรือจากผู้ใช้ไลน์ เพย์ เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทในการชำระเงินมูลค่าธุรกรรม ก่อนที่บริษัททำการโอนมูลค่าธุรกรรมไปยังผู้ประกอบการร้านค้า

 

4.5 บริษัทจะบันทึกระบบปฏิบัติการบริการทางธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า ไม่ว่าการปฏิบัติการนั้นจะสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม ผู้ประกอบการร้านค้าอาจจะขอบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมของบัญชีการใช้บริการและบริการผ่านการบริหารจัดการที่บริษัทได้จัดไว้ให้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าพบบันทึกข้อมูลที่ผิดพลาดใดๆ อาจจะขอให้บริษัทจัดหาบันทึกข้อมูลคำสั่งในการเรียกเก็บหรือจ่ายเงินที่เป็นประเด็นนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าเข้าใจและตกลงว่า หลังจากบริษัทได้โอนจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ระบุ ไปยังบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้าตามคำสั่งของผู้ประกอบการร้านค้า และภายหลังจากที่สถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้บริการแก่บริษัท ยืนยันว่าจำนวนเงินดังกล่าวได้รับไว้แล้ว ถือว่าบริษัทได้ปฏิบัติหน้าที่ในการชำระเงินตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าแล้ว ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้ามีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับการชำระเงินดังกล่าว ให้สอบถามไปยังสถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการร้านค้ามีบัญชีธนาคารอยู่ 

 

5. ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการร้านค้าในการคืนเงิน
 

5.1 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงว่าในกรณีใดๆ ดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าจะคืนเงินที่บริษัทได้โอนให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อมิให้บริษัทได้รับความเสียหาย และบริษัทอาจจะหักจำนวนเงินที่บริษัทจะได้รับคืนดังกล่าวจากเงินอื่นที่บริษัทจะต้องชำระให้กับผู้ประกอบการร้านค้า ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
 

5.1.1 ผู้ใช้ไลน์ เพย์ไม่ได้รับสินค้าและบริการที่ซื้อ หรือมีข้อพิพาท หรือปฏิเสธการจ่าย หรือการเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับสินค้าและบริการ 
 

5.1.2 ผู้ประกอบการร้านค้าได้ทำผิดข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า หรือสถาบันการเงินได้แจ้งบริษัทว่าธุรกรรมของผู้ประกอบการร้านค้านั้นมีความเสี่ยง ผิดกฎหมาย เป็นที่น่าสงสัย หรือฝ่าฝืนกฎระเบียบและกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ 

 

5.1.3 ผู้ประกอบการร้านค้าทำธุรกรรมให้กับร้านค้าหรือบุคคลอื่น หรือชำระหนี้ และเรียกร้องให้บริษัทชำระเงินจากบริษัทด้วยวิธีการอื่นใด โดยไม่ผ่านวิธีการให้บริการของบริษัท 

 

5.1.4 ธุรกรรมที่ผู้ประกอบการร้านค้าเสนอในการดำเนินการ และการชำระค่าบริการนั้นเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการร้านค้าทำธุรกรรมนอกวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายหรือในธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียง การให้กู้ยืมเงิน 

 

5.1.5 บริษัทขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าจัดหาบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมเพื่อให้บริษัทตรวจสอบ แต่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่สามารถที่จะจัดหาภายในเจ็ดวันหลังจากที่ได้รับการบอกกล่าวจากบริษัท 

 

6. การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไลน์ เพย์

 

6.1 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องปฏิบัติต่อผู้ใช้ไลน์ เพย์ ซึ่งใช้บริการไลน์ เพย์อย่างเท่าเทียมกัน ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติม หรือจำกัดวิธีการชำระเงินของผู้ซื้อ (รวมถึงบริการไลน์ เพย์) สำหรับธุรกรรมโดยไม่มีเหตุผล และจะไม่กำหนดจำนวนเงินขั้นสูงสุดหรือต่ำสุดในการซื้อแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงเสนอขายสินค้าและบริการในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาขาย และ/หรือค่าบริการที่คิดจากลูกค้าที่ชำระราคาด้วยเงินสด และหากมีการให้บริการพิเศษใดๆ แก่ลูกค้าทั่วไป เช่น การให้ส่วนลดหรือของแถม ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องให้บริการนั้นแก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ด้วย 

 

6.2 ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่เปลี่ยนค่าบริการที่ต้องชำระ หรือค่าใช้จ่ายที่ได้ชำระไว้ โดยการเพิ่มราคาธุรกรรมที่ผู้ใช้ไลน์ เพย์จะต้องชำระ และห้ามมิให้ผู้ประกอบการร้านค้าเพิ่มราคาในการทำธุรกรรมที่ผู้ใช้ไลน์ เพย์จะต้องชำระ ในกรณีที่เกิดเหตุใดๆ ที่กล่าวข้างต้นขึ้น ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคืนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มเติมให้กับผู้ใช้ไลน์ เพย์ในทันที ในกรณีที่บริษัททำการสืบสวนและพบว่าผู้ประกอบการร้านค้าได้ปฏิบัติต่อผู้ใช้ไลน์ เพย์อย่างไม่เป็นธรรม ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้ากระทำการดังกล่าวจนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือสูญเสียใด ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทสำหรับความเสียหายและสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้น

 

6.3 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่ยกเว้นความรับผิดของตนเองด้วยการกำหนดให้ผู้ใช้ไลน์ เพย์สละสิทธิในการโต้แย้งหรือใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ประกอบการร้านค้ารับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์อันเนื่องมาจากธุรกรรมการซื้อสินค้าและบริการระหว่างผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ใช้ไลน์ เพย์

 

7. การใช้รหัสผู้ขาย

 

รหัสผู้ขายที่ได้มอบให้ผู้ประกอบการร้านค้าเป็นสิทธิของบริษัท และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการร้านค้าในการใช้บริการ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่ให้รหัสผู้ขายให้กับบุคคลอื่น และผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่ใช้รหัสผู้ขายเกินกว่าวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมเพื่อการใช้บริการ 

 

8. ข้อกำหนดในการใช้บริการเรียกเก็บตามบัตรเครดิตและการชำระค่าบริการ 

 

8.1 ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าเงื่อนไขของบริษัทอาจจะขอสมัครใช้บริการในการเรียกเก็บและโอนการชำระเงินจากผู้ใช้ไลน์ เพย์ ซึ่งใช้บัตรเครดิตและ/หรือกระเป่าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมใน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ("การเรียกเก็บบัตรเครดิตและการชำระค่าบริการ")

 

8.2 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่ปฏิเสธการซื้อโดยใช้บัตรเครดิตใดๆ เพียงเพราะว่าจำนวนเงินที่ซื้อนั้นน้อย หรือห้ามมิให้กำหนดจำนวนขั้นสูงสุดหรือต่ำสุดสำหรับการซื้อใดๆ โดยบัตรเครดิต 

 

8.3 ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้ายอมรับการชำระเงินของผู้ใช้ไลน์ เพย์ตามมูลค่าธุรกรรม โดยใช้บัตรเครดิตผ่านทางการให้บริการ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องได้รับเลขที่อนุญาตเพียงตัวเลขเดียวเท่านั้นสำหรับมูลค่าธุรกรรมทั้งหมดกับผู้ใช้ไลน์ เพย์ และขอให้ชำระเต็มจำนวนเท่านั้น สำหรับมูลค่าธุรกรรมจากการให้บริการ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่แบ่งแยกธุรกรรมบัตรเครดิตเป็นสองธุรกรรมหรือมากกว่านั้น หรือได้รับเลขอนุญาตสำหรับแต่ละส่วนของธุรกรรม ผู้ประกอบการร้านค้ารับรองจะไม่ใช้บริการในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ลงนามในสลิปบัตรเครดิตโดยไม่ได้ทำการซื้อขายสินค้าและบริการผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ได้รับเงินล่วงหน้าใดๆ ทำการฉ้อโกงในธุรกรรมการเงิน ทำการโอนเงินโดยไม่มีการทำธุรกรรม หรือ ชำระค่าใช้จ่ายล่วงหน้าให้กับผู้ใช้ไลน์ เพย์สำหรับสินค้าและบริการก่อนแล้วเรียกร้องให้มีการชำระเงินโดยธนาคารที่ออกบัตรเครดิต ("ผู้ออกบัตรเครดิต") ผ่านทางบริษัท ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ฝ่าฝืนข้อกำหนดข้างต้น บริษัทอาจจะระงับการโอนมูลค่าธุรกรรมให้ผู้ประกอบการร้านค้า ในกรณีที่เงินตามมูลค่าธุรกรรมนั้นได้ถูกโอนไปยังผู้ประกอบการร้านค้าแล้ว ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้บริษัท

 

8.4 ในกรณีที่ธุรกรรมของผู้ประกอบการร้านค้ากับผู้ใช้ไลน์ เพย์นั้นถูกเลื่อนกำหนดออกไป เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากบริษัท ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่รับชำระเงินมูลค่าธุรกรรมด้วยบัตรเครดิตของผู้ใช้ไลน์ เพย์ผ่านช่องทางการให้บริการ ในกรณีที่ธุรกรรมนั้นเป็นธุรกรรมเลื่อนกำหนดออกไป หลังจากมูลค่าธุรกรรมนั้นได้มีการชำระด้วยบัตรเครดิตผ่านทางการให้บริการ บริษัทอาจจะระงับมูลค่าธุรกรรมจากผู้ประกอบการร้านค้า ในกรณีที่มูลค่าธุรกรรมนั้นได้มีการชำระให้ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคืนเงินจำนวนเดียวกันนั้นให้กับบริษัท 

 

8.5 ในกรณีที่ผู้ออกบัตรเครดิตหรือผู้ได้รับบัตรเครดิต หรือนิติบุคคลภายในหรือภายนอกประเทศอาจจะปฏิเสธที่จะชำระเงินตามมูลค่าธุรกรรม หรือเรียกให้บริษัทชำระคืนมูลค่าธุรกรรมที่ได้ชำระหรือจ่ายให้ผู้ประกอบการร้านค้าไปก่อนหน้าแล้ว แม้ว่าบัตรเครดิตนั้นจะผ่านการพิจารณาตรวจสอบหรือ ยืนยันว่าใช้ได้โดยผู้ออกบัตรเครดิตหรือผู้ได้รับบัตรเครดิตหรือนิติบุคคลภายในหรือภายนอกประเทศ ("การเรียกคืน") ในสถานการณ์เหล่านี้ บริษัทอาจจะไม่ชำระมูลค่าธุรกรรมให้กับผู้ประกอบการร้านค้า ในกรณีที่มูลค่าธุรกรรมนั้นได้มีการชำระให้ผู้ประกอบการร้านค้าไปแล้ว ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคืนเงินจำนวนเดียวกันนั้นให้บริษัท แม้ว่าไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะจัดหา หรือดำเนินการในสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องก็ตาม

 

8.5.1 การเรียกคืนแสดงถึงความรับผิดที่ผู้ประกอบการร้านค้ามีต่อบริษัทโดยพลัน และบริษัทมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ประกอบการร้านค้าชดใช้ด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามเต็มจำนวน รวมถึงค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด และความรับผิดซึ่งบริษัทได้รับอันเป็นผลมาจากการเรียกคืนดังกล่าว ("ค่าใช้จ่ายในการเรียกคืน")

 

8.5.2 บริษัทไม่มีหน้าที่ในการสืบสวนความถูกต้องของ "การเรียกคืน" จากผู้ออกบัตรเครดิต ผู้ได้รับบัตรเครดิต หรือนิติบุคคลภายในหรือต่างประเทศ ซึ่งการตัดสินดังกล่าวถือเป็นที่สุดและผูกพันการเรียกคืนใดๆ 

 

8.5.3 ในกรณีที่การเรียกคืนนั้นเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานหลังจากวันที่มีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการร้านค้ารับทราบและตกลงว่า ไม่ว่าจะมีการยกเลิกสัญญาไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม บริษัทยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ในส่วนของการเรียกคืน และค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนจากผู้ประกอบการร้านค้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียกคืนทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกรรมที่มีผลในระหว่างที่ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้ามีผลบังคับใช้ 

 

8.6 ในกรณีที่หลังจากที่มีการทำธุรกรรมโดยบัตรเครดิต ผู้ใช้ไลน์ เพย์ที่เกี่ยวข้องทำการแจ้งผ่านทางผู้ออกบัตรเครดิตว่า ผู้ใช้ไลน์ เพย์ปฏิเสธที่จะชำระมูลค่าธุรกรรม หรือในกรณีมีข้อพิพาทอื่นใดเกิดขึ้น บริษัทอาจจะ (แต่มิได้มีหน้าที่) ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ใช้ไลน์ เพย์ในการระงับข้อพิพาทโดยใช้กลไกที่กำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดการข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการซื้อขายโดยบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีหน้าที่จะชำระเงินตามมูลค่าธุรกรรมให้กับผู้ประกอบการร้านค้า 

 

8.7 ในกรณีที่ศาล หน่วยงานที่มีอำนาจ องค์กรระหว่างประเทศ ผู้ออกบัตรเครดิต หรือผู้ได้รับบัตร ได้แจ้งให้บริษัททราบว่า ผู้ประกอบการร้านค้านั้นต้องสงสัยว่าเป็นร้านค้าที่มีความสุ่มเสี่ยงในการดำเนินกิจการที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือบริษัทได้พิจารณาว่าผู้ประกอบการร้านค้านั้นต้องสงสัยหรือเป็นร้านค้าที่มีความสุ่มเสี่ยง บริษัทอาจจะระงับการชำระเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า และระงับการอนุมัติที่ได้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าในการใช้บริการ หรือสมัครขอใช้บริการการชำระเงินกับบริษัท หรือระงับการชำระเงินไม่ว่าจำนวนใดๆ ให้กับผู้ประกอบการร้านค้า โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้า หลังจากผู้แจ้งหรือหน่วยงานที่มีอำนาจได้พิจารณาภายหลังจากการสืบสวนว่าผู้ประกอบการร้านค้านั้นไม่มีเหตุต้องสงสัยหรือสุ่มเสี่ยงใดๆ และแจ้งให้บริษัทรับทราบการพิจารณาดังกล่าว บริษัทจะคืนสิทธิของผู้ประกอบการร้านค้าในการรับชำระโดยบัตรเครดิตโดยผู้ใช้ไลน์ เพย์ สำหรับธุรกรรมสินค้าและบริการที่ทำผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ผู้ประกอบการร้านค้าจะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยใดๆ หรือค่าเสียหายอื่นใดสำหรับจำนวนเงินที่บริษัทระงับการจ่ายในระหว่างที่มีการถูกระงับการชำระเงินให้กับบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า 

 

8.8 ภายใต้บังคับข้อ 13 และข้อ 14 ที่จะกล่าวต่อไป โดยพิจารณาจากความจำเป็นทางการค้า บริษัทอาจจะใช้ข้อมูลของผู้ประกอบการร้านค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้กับบริษัท ในกรณีที่ศาลยุติธรรม หน่วยงานที่มีอำนาจ องค์กรระหว่างประเทศ ผู้ออกบัตรเครดิต หรือผู้ได้รับบัตร ได้ร้องขออย่างเป็นทางการให้บริษัทจัดหาข้อมูล บริษัทมีสิทธิที่จะจัดส่งข้อมูลดังกล่าว ตามกฎหมายที่บังคับใช้ 

 

8.9 ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าทราบว่ามีธุรกรรมบัตรเครดิตที่ผิดปกติใดๆ หรือสงสัยว่าผู้ใช้ไลน์ เพย์ใช้บัตรเครดิตปลอม หรือได้รับรายงานการสูญหายของบัตรเครดิตดังกล่าว หรือพบว่าผู้ถือบัตรเครดิตนั้นต้องสงสัย ก่อนที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะยอมรับการทำธุรกรรมใดๆ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องยืนยันและได้รับเลขที่อนุญาตจากผู้ออกบัตรเครดิต ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ขอให้บริษัทช่วยเหลือในการได้รับคำยืนยันของผู้ออกบัตรเครดิต ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมจากการดังกล่าว

 

8.10 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนด เงื่อนไข วิธีการ ขั้นตอน หลักเกณฑ์ กฎระเบียบ ข้อบังคับที่ออกโดยผู้ได้รับบัตร (Acquirer) ผู้ออกบัตรเครดิต รวมถึงเครือข่ายผู้ให้บริการบัตรเครดิตทุกราย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

 

8.10.1 ขั้นตอนการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer (KYC)) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence)

 

8.10.2 การรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตสำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์"

 

8.10.3 ระเบียบ ข้อปฏิบัติ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะมาตรฐาน Payment Card Industry Data Security Standard (PCI DSS) และ Payment Application Data Security Standard (PA DSS) 

 

9. ความช่วยเหลือในการสืบสวน

 

9.1 บริษัทอาจจะขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าจัดหารายงาน และ/หรือข้อมูลในการทำธุรกรรมใดๆ สถานะการชำระหนี้ ของสัญญาซื้อขายใดๆ และข้อมูลอื่นใดที่บริษัทเห็นว่าจำเป็นในการสืบสวนการใช้บริการของผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการร้านค้านั้นไม่อาจจะปฏิเสธคำขอรายงาน และ/หรือข้อมูลดังกล่าว 

 

9.2 บริษัทอาจจะขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าจัดหาข้อมูล และ/หรือเอกสารใดที่จำเป็นในการปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมาย ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องจัดหาข้อมูลและ/หรือเอกสารดังกล่าวนั้นในทันที

 

10. การคิดค่าบริการ

 

10.1 เพื่อเป็นการตอบแทนการให้บริการโดยบริษัท ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องชำระค่าบริการให้บริษัท ตามที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องชำระ และได้รับแจ้งเป็นคราวๆ ("ค่าบริการ") ตามเงื่อนไขและข้อตกลงเรื่องการชำระค่าบริการที่กำหนดไว้ในคำขอ

 

10.2 เว้นแต่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น ค่าบริการทั้งหมดและการชำระเงินอื่นใดที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องชำระให้บริษัทภายใต้ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรแสตมป์ และภาษีที่เกี่ยวข้อง และนอกเหนือจากการชำระค่าบริการหรือเงินอื่นใดที่ต้องชำระแล้วนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงที่จะชำระภาษีดังกล่าวทั้งหมด รวมถึง เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าปรับ และค่าธรรมเนียมของหน่วยงานราชการใดๆ ที่เกิดขึ้น 

 

10.3 ในบางครั้ง บริษัทอาจจะเปลี่ยนแปลงค่าบริการ และ/หรือ กำหนดค่าใช้จ่ายใหม่ นอกเหนือจากค่าธรรมเนียม โดยแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

 

10.4 บริษัทสงวนสิทธิที่จะหยุดให้บริการใดๆ โดยถือเป็นดุลยพินิจเด็ดขาดของบริษัทแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า และ/หรือมีสิทธิยกเลิกข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าตามข้อ 17 หากปรากฎว่าผู้ประกอบการร้านค้าไม่ได้ชำระจำนวนเงินใดๆ ที่ถึงกำหนดชำระให้กับบริษัทในคราวใดภายในกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในข้อ 10 ของข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้

 

11. บัญชีธนาคารและการชำระเงิน

 

11.1 ตลอดระยะเวลาที่ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้ามีผลใช้บังคับ และตามระยะเวลาที่อาจจะกำหนดกันในภายหลัง เพื่อวัตถุประสงค์ตามเงื่อนไขของข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคงบัญชีในชื่อของผู้ประกอบการร้านค้ากับธนาคารที่บริษัทยอมรับ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรับชำระเงินจากบริษัทและทำการชำระเงินให้กับบริษัท ("บัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า")

 

11.2 ในกรณีที่บริษัทสามารถหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า บริษัทมีสิทธิที่จะหักยอดรวมทั้งหมดที่ถึงกำหนดชำระจากผู้ประกอบการร้านค้า ตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า โดยการหักบัญชีโดยตรงจากบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า และบริษัทสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้โดยไม่กระทบต่อสิทธิอื่นใด หรือการเยียวยาความเสียหายใดที่มีอยู่ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคงไว้ซึ่งคำสั่งธนาคารในการอนุญาตในการหักบัญชีดังกล่าว

 

11.3 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า ที่เสนอโดยผู้ประกอบการร้านค้า (รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ สถานที่ของสาขาซึ่งมีบัญชีนั้นอยู่) และจะไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากความยินยอมของบริษัท ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษรในทันที โดยให้รายละเอียดที่ครบถ้วนในการเปลี่ยนแปลงและเหตุผล

 

12. ทรัพย์สินทางปัญญา

 

ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงและรับทราบว่า ไม่มีข้อความใดในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ที่จะก่อให้เกิดการให้สิทธิ กรรมสิทธิ์ หรือประโยชน์ใดๆ หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ สิทธิทั้งหมดนั้นเป็นของบริษัทและผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิของบริษัท 

 

13. ความลับ

 

13.1 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของข้อ 13 นี้ ข้อมูลความลับหมายถึง

 

13.1.1 ข้อกำหนดและเงื่อนไขของผู้ประกอบการร้านค้า 

 

13.1.2 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งโดยลักษณะเป็นความลับ หรือบริษัทได้กำหนดให้เป็นความลับ 

 

13.1.3 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าทราบหรือมีเหตุอันควรทราบหรือเชื่อว่าเป็นความลับ 

 

13.1.4 ข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ที่บริษัทได้ให้ไว้กับผู้ประกอบการร้านค้า และ

 

13.1.5 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทรวมถึงการตลาดและแผนส่งเสริมการขายหรือสินค้าอื่นหรือข้อมูลของบริษัท ข้อมูลการวิจัย และการวิเคราะห์ ความลับทางการค้า การพัฒนาธุรกิจ และกลยุทธ์การตลาด ข้อมูลการซื้อขาย การบริหารองค์กร แผนธุรกิจ สัญญากับบุคคลอื่น รายชื่อลูกค้า ข้อมูลการเงิน ข้อมูลที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับสถานะทางการเงินและทรัพย์สินหรือความรับผิดของบริษัท

 

13.2 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องรักษาข้อมูลความลับของบริษัทเป็นความลับ และจะต้องไม่ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ นอกไปจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ และจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับของบริษัทต่อบุคคลใดๆ และจะต้องกระทำการตามสมควรเพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเปิดเผย

 

13.3 ข้อ 13.2 จะไม่บังคับใช้กับ 

 

13.3.1 ข้อมูลใดๆ ซึ่งเป็นหรือกลายเป็นส่วนข้อมูลสาธารณะโดยไม่ได้มีการกระทำใดหรือเกี่ยวข้องกับคู่สัญญาที่ได้รับข้อมูล 

 

13.3.2 ข้อมูลใดๆ ที่คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับข้อมูลได้รับจากบุคคลภายนอกผู้ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่รักษาความลับต่อคู่สัญญาที่เปิดเผยข้อมูล 

 

13.3.3 ข้อมูลใดๆ ซึ่งได้พัฒนาโดยอิสระจากคู่สัญญาฝ่ายที่รับข้อมูลก่อนที่จะได้รับข้อมูลความลับจากคู่สัญญาฝ่ายที่เปิดเผยข้อมูลโดยปราศจากการเข้าถึงหรือใช้ข้อมูลความลับหลังจากได้รับ โดยมีหลักฐานเป็นบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของคู่สัญญาฝ่ายที่รับข้อมูล 

 

13.3.4 ข้อมูลความลับใดๆ ซึ่งต้องเปิดเผยตามกฎหมายใดๆ ที่บังคับใช้ โดยที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท ตามรูปแบบและเนื้อหาในการเปิดเผย เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้นั้น และจะต้องดำเนินการที่จำเป็นให้ผู้รับข้อมูลความลับได้ดำเนินการรักษาข้อมูลความลับให้เป็นความลับภายใต้เงื่อนที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนี้ และ 

 

13.3.5 ข้อมูลความลับใดๆ ซึ่งต้องการที่จะเปิดผยตามคำสั่งใดที่ออกโดยศาลหรือองค์คณะที่มีเขตอำนาจ หรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางกฎหมายใดๆ ระหว่างคู่สัญญา

 

13.4 ผู้ประกอบการร้านค้ารับทราบและตกลงว่าการฝ่าฝืนเงื่อนไขตามข้อ 13 จะส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ต่อบริษัท ซึ่งความเสียหายนั้นอาจจะไม่มีการเยียวยาที่เพียงพอ และนอกเหนือจากการบรรเทาความเสียหาย และ/หรือการเยียวยาตามกฎหมาย บริษัทมีสิทธิที่จะบรรเทาความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหน้าที่ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า (ไม่ว่าเป็นการคุ้มครองชั่วคราว การชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจง และการบรรเทาความเสียหายอย่างอื่น) โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดรูปแบบการประกัน และผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่คัดค้านการบรรเทาความเสียหายดังกล่าวไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ 

 

13.5 ข้อ 13 นี้จะมีผลบังคับใช้ต่อไป แม้ว่าข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้จะครบกำหนดอายุสัญญา มีการระงับ หรือมีการบอกเลิกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม 

 

14. ข้อมูลส่วนบุคคล

 

14.1 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของข้อ 14 นี้ 

 

14.1.1 "ข้อมูลส่วนบุคคล" หมายถึงข้อมูลไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตามเกี่ยวกับบุคคลผู้ซึ่งระบุตัวตนได้จากข้อมูลนั้น หรือข้อมูลอื่นซึ่งคู่สัญญามีหรือมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงข้อมูล 

 

14.1.2 "การประมวลผล" เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง 

 

(1) ดำเนินการปฏิบัติการใดๆ หรือชุดปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลและรวมถึงการบันทึก การครอบครอง การบริหารจัดการ การปรับปรุง/การเปลี่ยนแปลง การเรียกคืน การวม การส่ง หรือการลบ/การทำลาย และ/หรือ

 

(2) คัดลอก ใช้ เข้าถึง แสดง ทำงาน จัดเก็บ ตรวจสอบ จัดการ เปลี่ยนแปลง ดัดแปลง แปล แยกส่วนประกอบไปไว้อีกงานหนึ่ง ประมวลผล หรือรวบรวมเข้าด้วยกัน หรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน และ/หรือ 

 

(3) อนุญาตให้บุคคลอื่นดำเนินการตาม (ก) และ/หรือ (ข)

 

14.2 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงและรับรองต่อบริษัทว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้รับ ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับการบริการหรือกรณีอื่นใด (“ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัท”)

 

14.2.1 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลและข้อกำหนดอื่นใดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่บริษัทมีหรือจะมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้นในการกำหนดให้ผู้ประกอบการร้านค้าปฏิบัติตาม ตามที่บริษัทจะแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นคราวๆ ไป

 

14.2.2 โดยไม่เป็นการกระทบต่อกฎเกณฑ์ทั่วไปตามที่กล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องให้ความแน่ใจว่าจะได้จัดหามาตรฐานการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทซึ่งเทียบได้กับการคุ้มครองตามข้อบังคับและกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ 

 

(1) วัตถุประสงค์: ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทเพื่อวัตถุประสงค์ซึ่งบริษัทได้ให้ข้อมูลส่วนบุคคลไว้อย่างเคร่งครัด และไม่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น

 

(2) การใช้และเปิดเผย: ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทในลักษณะ และเท่าที่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าเท่านั้น และปฏิบัติตามข้อจำกัดทั้งหมดในการใช้หรือเปิดเผยตามที่บริษัทอาจจะแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบ

 

(3) ความถูกต้อง: ผู้ประกอบการร้านค้ารับรองว่าจะใช้ความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทนั้นถูกต้องและสมบูรณ์ ในกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทนั้นอาจจะ (1) ถูกใช้โดยผู้ประกอบการร้านค้าในการตัดสินใจซึ่งมีผลกระทบต่อบุคคล ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทนั้นเกี่ยวข้อง หรือ (2) ถูกเปิดเผยโดยผู้ประกอบการร้านค้าต่อองค์กรอื่น (เฉพาะในกรณีที่ได้รับอนุญาตภายใต้ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า)

 

(4) การป้องกัน: ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทที่อยู่ในครอบครองหรือภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบการร้านค้า โดยจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยตามสมควร เพื่อที่จะป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต การเก็บ การใช้ การเปิดเผย การคัดลอก การปรับเปลี่ยน การลบทิ้ง หรือความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกัน 

 

(5) การเก็บรักษา: ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องหยุดเก็บเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัท หรือยกเลิกวิธีการใดๆ ที่ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทจะเกี่ยวข้องกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทันทีที่มีเหตุผลอันสมควรจะพิจารณาได้ว่า (1) วัตถุประสงค์ที่ระบุไว้นั้นไม่ได้มีอยู่อีกต่อไปที่จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัท และ (2) การเก็บข้อมูลนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับวัตถุประสงค์ทางกฎหมายหรือทางธุรกิจ

 

(6) การโอนข้ามประเทศ: ห้ามมิให้ผู้ประกอบการร้านค้าโอนข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ไปในเขตใดๆ ก็ตาม นอกประเทศไทย เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท 

 

(7) นโยบาย: ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแน่ใจว่าลูกจ้าง ตัวแทนและผู้รับจ้างช่วง ซึ่งอาจจะได้รับหรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทนั้น รับทราบหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในข้อ14 นี้ และตกลงที่จะผูกพันเช่นเดียวกัน 

 

14.3 ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าทราบว่ามีการเก็บ การใช้ การเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า หรือมีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทโดยมิชอบ หรือการละเมิดการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งอาจจะละเมิดการรักษาความปลอดภัยหรือความสมบูรณ์ของข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัท หรือมีผลกระทบที่เป็นผลร้ายในสาระสำคัญต่อบริษัท หรือนำไปสู่ข้อเรียกร้อง การกระทำหรือการดำเนินการใด หรือหากผู้ประกอบการร้านค้าทราบหรือสงสัยว่าข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทนั้นอาจจะมีความเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกเปิดเผยหรือได้รับมาจากบุคคลผู้ไม่มีอำนาจ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแจ้งให้บริษัททราบ และให้ความร่วมมือกับบริษัทอย่างเต็มที่ในการเยียวยาเรื่องดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสืบสวนเรื่องความปลอดภัยของบริษัทตามที่จำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการร้านค้า

 

14.4 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงและรับรองต่อบริษัทว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ให้ไว้กับบริษัท ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับบริการหรือเรื่องอื่นใดก็ดี 

 

14.4.1 ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้อยู่

 

14.4.2 ได้รับความยินยอมจากบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับบริษัท และเพื่อให้บริษัทรวบรวม ใช้ และเปิดเผยเพื่อประโยชน์ตามจุดมุ่งหมายในนโยบายรักษาความเป็นส่วนตัวของบริษัท

 

15. ข้อพิพาท 

 

15.1 ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องไม่ทำให้บริษัทเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทหรือข้อเรียกร้องที่มีระหว่างผู้ใช้ไลน์ เพย์กับผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการจัดการกับข้อร้องเรียนจากผู้ใช้ไลน์ เพย์ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่ได้ทำธุรกรรมผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" และได้ชำระเงินผ่านบริการ ในลักษณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้จัดหาสินค้าและบริการดังกล่าว ตามรูปแบบการชำระเงินอื่นใดที่ผู้ประกอบการร้านค้ายอมรับ

 

15.2 ในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือข้อเรียกร้องไม่ว่าเรื่องใดเกิดขึ้นจากการใช้บริการของผู้ประกอบการร้านค้า เอกสารและบันทึกข้อมูลในรา’ยละเอียดของธุรกรรมที่ผู้ประกอบการร้านค้าและบริษัทมีอยู่ ตามที่กำหนดให้เก็บรักษาไว้ตามข้อ 3 จะนำมาใช้เพื่อการอ้างอิง และจะใช้เป็นพื้นฐานเดียวกันในการระงับข้อพิพาทหรือเรียกร้องดังกล่าว ในกรณีที่มีความแตกต่างระหว่างบันทึกข้อมูลของบริษัทกับของผู้ประกอบการร้านค้า บริษัทและผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องร่วมกันสืบหาสาเหตุความแตกต่าง โดยใช้ข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายแล้วแต่ความเหมาะสม โดยจะมีการปรับปรุงตามสมควร (หากจำเป็น) แต่ถ้าหากข้อแตกต่างนั้นไม่สามารถนำมาปรับเข้ากันได้ ให้นำข้อมูลของบริษัทมาใช้

 

15.3 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงว่า ในกรณีที่ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไลน์ เพย์หรือผู้ที่กระทำการแทนผู้ใช้ไลน์ เพย์หลายครั้ง สำหรับธุรกรรมใดๆ ไม่ว่าผ่านทางการให้บริการหรือผ่านทางระบบการจ่ายเงินใดๆ ที่มีอยู่ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องคืนเงินหรือเบิกเงินคืนให้กับผู้ใช้ไลน์ เพย์ สำหรับจำนวนเงินที่มีการชำระเงินเกินจำนวน และผู้ประกอบการร้านค้าต้องชดใช้เงินเต็มจำนวนให้กับบริษัท และดำเนินการให้บริษัทได้รับการชดใช้ในกรณีที่ถูกเรียกร้องในเรื่องที่เกี่ยวกับการชำระเงินเกินจำนวนนั้น 

 

16. คำรับรอง/การชดใช้ความเสียหาย/ความรับผิด 

 

16.1 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงที่จะป้องกัน ชดใช้ และปกป้องมิให้บริษัท บริษัทแม่ บริษัทในเครือและบริษัทย่อย เจ้าหน้าที่ กรรมการ ตัวแทน กิจการร่วมค้า ลูกจ้าง ผู้ผลิตของบริษัท ("ผู้ได้รับการชดใช้") ให้ปลอดจากข้อเรียกร้อง การเรียกร้อง ความเสียหาย ค่าใช้จ่าย หรือความรับผิด (รวมถึงค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย) ซึ่งผู้ได้รับการชดใช้นั้นอาจได้รับความเสียหายหรือต้องเสียหายอันเกี่ยวข้องกับ หรือเกิดจากกรณีดังต่อไปนี้  

 

16.1.1 ผู้ประกอบการร้านค้า หรือลูกจ้างของผู้ประกอบการร้านค้า หรือตัวแทนของผู้ประกอบการร้านค้า ได้ทำผิดข้อตกลงและ/หรือนโยบาย 

 

16.1.2 การยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทจากผู้ใช้ไลน์ เพย์ ผู้ออกบัตรเครดิต สถาบันการเงินอื่น หรือบุคคลภายนอกอื่น ที่เกิดจากการชำระเงินตามธุรกรรมในการขายสินค้าและบริการผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทได้ดำเนินการและโอนจากบริษัทไปให้ผู้ประกอบการร้านค้า ผ่านการให้บริการไปแล้วหรือไม่ก็ตาม

 

16.1.3 ข้อเรียกร้องอื่นใดที่มีต่อบริษัท อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

 

16.1.4 การบังคับ หรือการพยายามบังคับตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า (ซึ่งรวมถึงการชดใช้หรือพยายามที่จะชดใช้จำนวนเงินใดๆ ที่เป็นหนี้บริษัทตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า)

 

16.1.5 การปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ประกอบการร้านค้า (รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับบุคคลภายนอกที่เสนอโดยบริษัท หรือได้รับคำสั่งจากบริษัทเพื่อวัตถุประสงค์นี้)

 

16.1.6 ธุรกรรมใดๆ เกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ได้กระทำผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ของผู้ประกอบการร้านค้า (รวมถึงธุรกรรมซึ่งได้พบในภายหลังว่าเป็นการฉ้อโกง) หรือ

 

16.1.7 การดำเนินการอื่นใดๆ ระหว่างผู้ประกอบการร้านค้ากับผู้ใช้ไลน์ เพย์ เว้นแต่ ในแต่ละกรณี ถ้ามีสาเหตุมาจาก หรือเกิดจากความประมาทของบริษัทหรือการฝ่าฝืนข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าใดๆ ที่กระทำโดยบริษัท 

 

16.2 เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัย ในกรณีที่มีผู้ใช้ไลน์ เพย์ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท ผู้ออกบัตร หรือบุคคลภายนอกคนใดก็ตาม บริษัทมีสิทธิที่จะพิจารณาทำความตกลงเพื่อยุติข้อเรียกร้องหรือพิจารณาดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นควรฝ่ายเดียว

 

16.3 ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าเป็นห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนแต่ละคนจะต้องร่วมกันและแยกกันรับผิดตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า

 

16.4 การให้บริการเป็นการให้บริการในลักษณะ "ตามที่เป็นอยู่นั้น" และ "ตามที่มีอยู่" บริษัทและผู้ได้รับการชดใช้ไม่รับประกัน รับรอง หรือให้คำมั่นใดๆ (ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย) เกี่ยวกับไลน์ เพย์ การให้บริการ และเนื้อหาใดๆ ในเว็บไซต์ที่ให้บริการ การรับประกัน การรับรอง หรือคำมั่นทั้งหมด รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ การรับประกัน การรับรอง คำมั่นใน ความถูกต้องเที่ยงตรง ความน่าเชื่อถือ สภาพทางการค้า ความพึงพอใจ คุณภาพ ความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์ใดโดยเฉพาะ และการไม่ถูกละเมิดนั้น ได้ถูกยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง หรือถือเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้อง อย่างสูงสุดตามที่กฎหมายจะอนุญาตให้ทำได้ บริษัทสงวนสิทธิที่จะเพิ่ม ตัด หรือเปลี่ยนแปลงระบบที่เกี่ยวข้องหรือหน้าที่ในการให้บริการทั้งหมดหรือบางส่วน 

 

16.5 เท่าที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้นั้น บริษัทและผู้ได้รับการชดใช้จะไม่รับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายใดๆ ที่เป็นความสูญหายหรือความเสียหายโดยอ้อม ความเสียหายจากการผิดสัญญา ความเสียหายพิเศษ ความเสียหายเชิงลงโทษ ความเสียหายต่อเนื่อง ค่าเสียหายที่เป็นการลงโทษ (รวมถึงแต่ไม่จำกัดแต่เพียง ความสูญเสียทางธุรกิจหรือโอกาสทางธุรกิจ ค่าความนิยม รายได้ กำไร ข้อมูล หรือประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่น) ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าอาจจะได้รับ (หรือบุคคลอื่นใดที่เรียกร้องภายใต้ชื่อของผู้ประกอบการร้านค้า หรือผ่านทางผู้ประกอบการร้านค้า) ซึ่งเป็นความสูญหายหรือเสียหายที่เกี่ยวข้องกับ หรือเกิดจากการเข้าถึง และ/หรือการใช้บริการ/เว็บไซต์ของการบริการ โดยผู้ประกอบการร้านค้า ไม่ว่าจะ (ก) เกิดจากสัญญา การละเมิด (รวมทั้งความประมาทเลินเล่อ) ไม่ว่าโดยลักษณะใดก็ตาม (ข) ความสูญหายหรือเสียหายนั้นสามารถคาดหมายได้ และ/หรือ (ค) บริษัทนั้นได้รับการแจ้งล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าว

 

16.6 การปฏิเสธความรับผิดที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ และข้อยกเว้นตามข้อ 16.5 ข้างต้น จะบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายอนุญาต แต่จะไม่ใช้กับความรับผิดใด หรือการสูญหายหรือเสียหายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังต่อไปนี้

 

16.6.1 ความตาย หรือการบาดเจ็บของบุคคล ที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของบริษัท 

 

16.6.2 การฉ้อโกง หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ

 

16.6.3 ความรับผิดอื่นใดซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

 

16.7 ความรับผิดทั้งหมดของบริษัท ไม่ว่าในทางสัญญา หรือละเมิด (รวมถึงความประมาท) หรือกรณีอื่นใด และไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า หรือสัญญาหลักประกัน จะจำกัดความรับผิดไว้เพียงค่าบริการรวมที่บริษัทได้เก็บจากผู้ประกอบการร้านค้า สำหรับธุรกรรมหรือการบริการที่ได้ให้บริการ ภายในระยะเวลา 12 (สิบสอง) เดือน ก่อนวันที่เกิดความรับผิดใดๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

17. ระยะเวลาและการบอกเลิกสัญญา

 

17.1 ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า จะเริ่มต้น ณ วันที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ยื่นคำขอเพื่อสมัครขอใช้บริการหรือข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า (แล้วแต่กรณี) และภายใต้บังคับการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดตามข้อ 10.4 และ ข้อ 17.2 ถึงข้อ 17.4 (รวมกัน) จะมีผลบังคับใช้จนกว่าที่จะมีการบอกเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนปฏิทิน ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการร้านค้าไม่มีสิทธิที่จะส่งหนังสือบอกกล่าวเพื่อบอกเลิกสัญญาจนกว่าจะผ่านพ้นระยะเวลา 12 (สิบสอง) เดือน นับจากวันที่มีการทำธุรกรรมเป็นครั้งแรกตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า (เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัย จะไม่รวมถึงการทำธุรกรรมใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดสอบ)

 

17.2 ในกรณีที่บริษัทได้แจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรว่า บริษัทไม่ยอมรับคำขอใช้บริการของผู้ประกอบการร้านค้า ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าจะยกเลิกโดยมีผลทันทีเมื่อมีการแจ้งบอกกล่าว 

 

17.3 โดยไม่คำนึงถึงข้อ 17.1 ข้างต้น บริษัทมีสิทธิที่จะระงับข้อกำหนดทั้งหมดหรือบางส่วนในการให้บริการโดยทันที หรือยกเลิกข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ทั้งหมดหรือบางส่วนในเรื่องบริการ ไม่ว่าในระยะเวลาใดโดยมีผลในทันที โดยการแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบ ในกรณีที่

 

17.3.1 ผู้ประกอบการร้านค้าได้ละเมิดข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญใดๆ ตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า

 

17.3.2 ผู้ประกอบการร้านค้าไม่ได้ชำระเงินจำนวนใดๆ ตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว

 

17.3.3 บริษัทพิจารณาว่า (โดยบริษัทมีดุลยพินิจเด็ดขาด) ว่ามูลค่าทั้งหมดของการคืนเงิน และ/หรือการเรียกคืน (Chargeback) นั้นไม่สมเหตุผล 

 

17.3.4 ผู้ประกอบการร้านค้าขายสินค้าและบริการซึ่งแตกต่างมากจากที่ได้แสดงไว้ในขั้นตอนที่ยื่นคำขอสมัครไว้กับบริษัท 

 

17.3.5 ผู้ประกอบการร้านค้า นำเข้า ส่งออก ขาย หรือเกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าและบริการที่ต้องห้ามหรือที่จำกัดการขาย 

 

17.3.6 ผู้ประกอบการร้านค้าแสดงธุรกรรมสินค้าและบริการผ่าน "ร้านค้าทางอิเล็กทรอนิกส์" ต่อบริษัท ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่ได้มอบสินค้า บริการ หรืออุปกรณ์นั้นให้กับผู้ใช้ไลน์ เพย์ที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดหมายโดยมีเหตุอันควรว่าจะได้รับ

 

17.3.7 ผู้ประกอบการร้านค้ามีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีการดำเนินการชำระบัญชี เลิกกิจการ ล้มละลาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์ มีการจัดสรรแบ่งแยกทรัพย์สิน หรือปิดบริษัท (หรือที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่กล่าวมาไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลใดๆ ก็ตาม)

 

17.3.8 ผู้ประกอบการร้านค้ามีการทำหรือเสนอการดำเนินการใดๆ กับเจ้าหนี้ของผู้ประกอบการร้านค้าเป็นการทั่วไป

 

17.3.9 ในกรณีที่เกิดเหตุขึ้นกับผู้ประกอบการร้านค้า หรือมีเรื่องมาถึงบริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิโดยเด็ดขาดในการพิจารณาว่าอาจจะมีผลกระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบการร้านค้า หรือกระทบต่อความยินดีที่จะปฏิบัติตามหน้าที่หรือความรับผิดใดๆ หรือทั้งหมดของผู้ประกอบการร้านค้าตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า

 

17.3.10 มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสถานการณ์ของผู้ประกอบการร้านค้า (รวมถึงการลดลง หรือเปลี่ยนแปลงสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการร้านค้า) หรือลักษณะธุรกิจของผู้ประกอบการร้านค้า หรือในสินค้าและบริการที่ ผู้ประกอบการร้านค้าได้จัดให้ไว้กับผู้ใช้ไลน์ เพย์ ซึ่งบริษัทมีสิทธิใช้ดุลยพินิจโดยเด็ดขาดในการพิจารณาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อการให้บริการต่อไปของบริษัทหรือต่อความพร้อมของบริษัทในการให้ความสะดวกกับผู้ประกอบการร้านค้า

 

17.3.11 ผู้ประกอบการร้านค้าหยุดประกอบกิจการ

 

17.3.12 บริษัทมีดุลยพินิจโดยเด็ดขาดในการพิจารณาว่าความสัมพันธ์กับธุรกิจของผู้ประกอบการร้านค้านั้นทำให้บริษัทมีความเสี่ยงหรือความรับผิดเพิ่มขึ้น 

 

17.3.13 ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการร้านค้า หรือมีเหตุการณ์ใดมาถึงบริษัทซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการร้านค้า หรือเกิดขึ้นมาจากหรือเป็นเหตุต่อเนื่องมาจากธุรกิจของผู้ประกอบการร้านค้า หรือดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการร้านค้า (รวมถึงวิธีการทำการค้าและกิจกรรมส่วนบุคคล) หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าเข้าทำธุรกิจการค้าใดหรือมีกิจกรรมส่วนบุคคล ซึ่งบริษัทได้ใช้ดุลยพินิจเด็ดขาดในการพิจารณาแล้วว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง หรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท เป็นอันตรายต่อธุรกิจของบริษัท หรืออาจจะเป็นการฉ้อโกงหรือการกระทำความผิดอาญาฐานอื่น หรือต้องสงสัยว่าเป็นการฉ้อโกงหรือการกระทำความผิดทางอาญาฐานอื่น

 

17.3.14 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับบุคคล บริษัท ห้างร้าน องค์กรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้ง (แต่ละ "บุคคล" และเรียกรวมว่า "บุคคลหลายคน") หรือกลุ่มบุคคลที่ร่วมกระทำการตามข้อตกลงหรือตามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ) และมีผลเป็นการควบคุมผู้ประกอบการร้านค้า

 

17.3.15 มีการข่มขู่ว่าจะมีการเรียกร้องใดๆ หรือกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ต่อผู้ประกอบการร้านค้า หรือโดยผู้ประกอบการร้านค้าหรือบริษัท 

 

17.3.16 มีการเรียกร้องใดๆ ต่อบริษัท โดยบุคคลภายนอกที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้ประกอบการร้านค้า 

 

17.3.17 บริษัทได้รับคำร้องขอหรือคำสั่งจากบริษัทบัตรเครดิต (ตัวอย่างเช่น VISA หรือ MasterCard เป็นต้น) ผู้ออกบัตรเครดิต ผู้ได้รับบัตร ธนาคารอื่น หรือสถาบันการเงินอื่น ให้บริษัทดำเนินการใดๆ ดังกล่าว 

 

17.3.18 ผู้ประกอบการร้านค้าได้ดำเนินการทำการค้าซึ่งบริษัทไม่ยินยอมด้วย

 

17.3.19 บริษัทหรือกลุ่มบริษัทมีสิทธิในการบอกเลิกสัญญาใดๆ กับผู้ประกอบการร้านค้าหรือบริษัทในเครือใดๆ ของผู้ประกอบการร้านค้า

 

17.4 ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงที่จะรับดำเนินการตามธุรกรรมและจัดส่งสินค้าและบริการให้แก่ผู้ใช้ไลน์ เพย์ต่อไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดฉบับนี้จนกว่าจะถึงวันที่สัญญาฉบับนี้สิ้นสุดลง

 

18. ผลของการบอกเลิกสัญญา

 

18.1 เมื่อมีการบอกเลิกข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า สิทธิและหน้าที่ทั้งหมดของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสิ้นสุดลงโดยมีผลในทันที เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

 

18.1.1 ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใดในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่า ให้มีผลบังคับต่อไปหลังจากสัญญาสิ้นสุด (เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยและไม่ถือเป็นข้อจำกัด ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขดังกล่าวให้รวมถึง ข้อ 8.5, 9, 10, 12 ถึงข้อ 20 (รวม)) และ

 

18.1.2 การบอกเลิกสัญญาจะไม่มีกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ที่เกิดขึ้นมาก่อนและมีอยู่แล้วของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ ณ วันที่สัญญาสิ้นสุด

 

18.2 เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า หรือไม่ว่าในระยะเวลาใดๆ ภายหลังจากที่ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้สิ้นสุดลง ผู้ประกอบการร้านค้าจะชำระเงินทั้งหมดที่ค้างชำระไว้กับบริษัทตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ในทันที และเพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย บริษัทยังคงมีสิทธิที่จะยึดหน่วงการจ่ายเงินตามข้อ 4.4 ข้อ 8.3 ถึงข้อ 8.5 และเรียกให้ชดใช้จำนวนเงินดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในข้อ 5 และ 8.5

 

19. ความสัมพันธ์กับข้อตกลงและเงื่อนไขอื่น 

 

19.1 นอกจากข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า การใช้บริการของ ผู้ประกอบการร้านค้า นั้นอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดทั่วไปของไลน์ เพย์

 

19.2 เว้นแต่ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้ากับข้อกำหนดทั่วไปของไลน์ เพย์ ให้ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้ามีผลบังคับใช้

 

20. เงื่อนไขทั่วไป 

 

20.1 สัญญาทั้งฉบับ โดยไม่กระทบกระทั่งสิทธิตามข้อ 19 ข้างต้น ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าก่อให้เกิดเป็นสัญญาทั้งฉบับและความเข้าใจร่วมกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องดำเนินการ และมีผลบังคับใช้แทนที่ และเป็นการยกเลิกคำรับรองอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น ข้อตกลง ความเข้าใจ และข้อตกลงอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งได้ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่ว่าโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก่อนวันทำข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้

 

20.1.1 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายรับรองว่า จะไม่อ้างอิงถึง คำรับรอง การจัดเตรียม ความเข้าใจร่วมกัน หรือข้อตกลง (ไม่ว่าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยวาจา) ที่ไม่ได้ระบุไว้หรืออ้างถึงไว้ในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าโดยชัดแจ้ง การเยียวยาที่คู่สัญญาจะใช้ได้เพียงอย่างเดียวเกี่ยวกับคำรับรอง การจัดการหรือความเข้าใจหรือข้อตกลงดังกล่าวนั้นคือการผิดสัญญาตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ 

 

20.1.2 ไม่มีข้อความใดในข้อ 20 นี้ ที่ยกเว้นความรับผิดในเรื่องการฉ้อโกง 

 

20.2 การแก้ไขและปรับเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดใดในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ หรือความยินยอมโดยคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ยกเลิกข้อกำหนดใดในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ จะไม่มีผลบังคับ เว้นแต่จะได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรและลงนามโดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง และความยินยอมเช่นว่านั้นจะมีผลบังคับใช้เฉพาะเรื่องและเฉพาะวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เท่านั้น และโดยไม่คำนึงถึงข้อความก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการร้านค้าตกลงว่า บริษัทมีสิทธิที่จะแก้ไขข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ในเวลาใดก็ได้ โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือมีหนังสือบอกกล่าวทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ประกอบการร้านค้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนมีผลบังคับใช้ตามที่ได้แก้ไข 

 

20.3 การแยกส่วนบังคับ ในกรณีที่ศาลหรือหน่วยงานทางปกครองที่มีเขตอำนาจใดๆ พบว่าข้อกำหนดใดๆ นั้นผิดกฎหมาย ไม่สมบูรณ์ หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้

 

20.3.1 การผิดกฎหมาย ความไม่สมบูรณ์ หรือการไม่สามารถบังคับได้นั้นจะไม่มีผลกระทบต่อข้อกำหนดอื่นใดในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งจะยังคงมีผลบังคับใช้เต็มที่ และ 

 

20.3.2 ในกรณีที่ข้อกำหนดนั้นสิ้นผลที่จะเป็นการผิดกฎหมาย ไม่สมบูรณ์ หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้ ใหากข้อกำหนดบางส่วนนั้นได้รับการปรับเปลี่ยนหรือถูกตัดออกไป ข้อกำหนดดังกล่าวนั้นจะบังคับใช้ได้ตามที่มีการปรับเปลี่ยนนั้นน้อยที่สุดหรือถูกตัดออกเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ถูกกฎหมาย สมบูรณ์ หรือบังคับใช้ได้ 

 

20.4 การโอนสิทธิ ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า และสิทธิและหน้าที่ของบริษัทตามข้อกำหนดนี้อาจจะมอบ โอน เปลี่ยนแปลง หรือจัดการโดยประการอื่นใดได้โดยบริษัท โดยบริษัทจะแจ้งผู้ประกอบการร้านค้าเป็นลายลักษณ์อักษร และจะมีผลผูกพันต่อประโยชน์ของผู้รับช่วงสิทธิ และผู้รับโอนสิทธิของบริษัท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือต่อการมอบต่อ โอน และเปลี่ยนแปลง หรือจัดการกับสิทธิดังกล่าว ข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า และสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดของผู้ประกอบการร้านค้าตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้มีผลเป็นการเฉพาะตัวของผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการร้านค้าจะไม่มอบต่อ โอน ให้อนุญาตช่วง หรือทำสัญญาช่วงสิทธิและหรือหน้าที่ให้กับบุคคลภายนอกใดๆ โดยปราศจากความยินยอมของบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร 

 

20.5 การบอกกล่าว เว้นแต่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นไว้ในข้อกำหนดนี้ การบอกกล่าวใดๆ ของบริษัทไปยังผู้ประกอบการร้านค้าภายใต้ข้อกำหนดนี้จะต้อง

 

20.5.1 ทำเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นภาษาอังกฤษ และส่งมอบด้วยบุคคล ทางจดหมายไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือโดยการส่งโทรสาร และส่งไปยังที่อยู่สุดท้ายหรือเลขโทรสารที่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ให้ไว้กับบริษัท และ

 

20.5.2 ถือว่าได้รับเมื่อ (ก) ในกรณีที่เป็นจดหมาย ณ เวลาที่มีการส่งมอบถึงมือตามที่อยู่นั้น หรือสอง (2) วันหลังจากที่ได้ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ (ข) ในกรณีที่เป็นไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าได้รับในวันทำการแรกนับถัดจากวันที่ส่งมอบหรือมีการส่ง โดยจะต้องไม่มีเอกสารแสดงว่าการส่งดังกล่าวไม่สำเร็จส่งกลับไปที่ผู้ส่ง และ (ค) ในกรณีโทรสาร ณ เวลาที่ทำการส่งมอบเสร็จสิ้นแล้ว และสำเนาที่อ่านได้นั้นได้รับโดยผู้รับที่ถูกส่งไป 

 

20.6 การไม่สละสิทธิ การละเว้น หรือการล่าช้าในส่วนของบริษัทในการใช้สิทธิใดๆ ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นการสละสิทธิที่มีตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ 

 

20.7 สิทธิของบุคคลภายนอก บุคคลซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญาในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ไม่มีสิทธิตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย ในการที่จะบังคับตามข้อกำหนดใดๆ ของข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้  

 

20.8 คำแปลข้อตกลง คำแปลใดๆ ของข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้านี้ มีไว้เพียงเพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการร้านค้า และไม่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้า ในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาอื่น ให้ฉบับภาษาไทยมีผลบังคับใช้ 

 

20.9 กฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญาและเขตอำนาจศาล รูปแบบ โครงสร้าง การปฏิบัติตามสัญญา ความสมบูรณ์ และทุกประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกำหนดของผู้ประกอบการร้านค้าฉบับนี้ จะบังคับใช้ตามกฎระเบียบและกฎหมายของประเทศไทย และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะอยู่ภายใด้เขตอำนาจของศาลไทยเท่านั้น โดยข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจเพิกถอนได้

 

20.10 วันที่แก้ไข ข้อกำหนดผู้ประกอบร้านค้าฉบับนี้ได้รับการแก้ไขและปรับเปลี่ยนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566