LINE

ภาษาไทย
แนวทางการใช้งาน LINE MyCustomer
วันที่ประกาศใช้: 17 สิงหาคม 2566


1.    คำนำ
แนวทางการใช้งาน LINE MyCustomer (ซึ่งต่อไปเรียกว่า "แนวทางการใช้งาน") ทำขึ้นเพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่บน LINE MyCustomer ซึ่งผู้ใดก็ตาม ที่ใช้บริการ LINE MyCustomer (ซึ่งต่อไปเรียกว่า "แบรนด์" หรือ "คุณ" หรือ "ของคุณ") ควรทราบเมื่อใช้บริการ LINE MyCustomer (ซึ่งต่อไปเรียกว่า "บริการ") ของบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด (ซึ่งต่อไปเรียกว่า "LINE" หรือ "เรา") แนวทางการใช้งานนี้ใช้บังคับร่วมกับข้อกำหนดการใช้งาน LINE MyCustomer (LINE MyCustomer Terms of Use)  (ซึ่งต่อไปเรียกว่า "ข้อกำหนดการใช้งาน") ในกรณีที่มีความขัดแย้งกันระหว่างแนวทางการใช้งานและข้อกำหนดการใช้งาน ให้บังคับใช้ตามแนวทางการใช้งานนี้
แนวทางการใช้งานนี้จะให้ข้อแนะนำการใช้งานแก่แบรนด์ แต่มิได้ถือเป็นคำปรึกษาทางกฎหมาย การปฏิบัติตามแนวทางการใช้งานนี้จึงไม่อาจรับประกันได้ว่าคุณจะปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้อย่างถูกต้อง คุณอาจจำเป็นต้องหารือกับที่ปรึกษากฎหมายของคุณเพื่อให้แน่ใจว่า คุณได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้โดยถูกต้องแล้ว 
แนวทางการใช้งานนี้บังคับใช้กับทุกแบรนด์ รวมถึงผู้ดูแลระบบของแบรนด์ และผู้ใดที่เข้าถึงบัญชี LINE MyCustomer เพื่อใช้บริการ LINE MyCustomer แบรนด์มีหน้าที่ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ดูแลระบบของแบรนด์ หรือผู้ใดที่เข้าบัญชี LINE MyCustomer ได้รับทราบและปฏิบัติตามแนวทางการใช้งานนี้อย่างเหมาะสม เมื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ บน LINE MyCustomer


2.    การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้งาน
แนวทางการใช้งานนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ณ วันที่แก้ไขล่าสุดตามที่ระบุไว้ด้านล่าง ทั้งนี้ เราอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้งานนี้เป็นครั้งคราว โดยเราขอแนะนำให้คุณเข้ามาตรวจสอบแนวทางการใช้งานอยู่เป็นระยะ ๆ


3.    การปฏิบัติตามกฎหมาย
ตามข้อกำหนดการใช้งาน แบรนด์มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ทั้งหมด และตกลงที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการในลักษณะที่เป็นการละเมิดกฎหมายที่บังคับใช้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้บริการ กฎหมายที่บังคับใช้อาจหมายรวมถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายควบคุมเนื้อหา และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

3.1.    กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
โดยทั่วไป กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะบัญญัติข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ("พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล") ข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง ข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลธรรมดา และทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรม โดยในส่วนที่เกี่ยวกับบริการ ตัวอย่างข้อมูลส่วนบุคคลมีดังต่อไปนี้
ตัวอย่างข้อมูลส่วนบุคคล
(1)     ชื่อ เช่น ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น และชื่อโปรไฟล์
(2)     ข้อมูลติดต่อ เช่น ที่อยู่ไปรษณีย์ ที่อยู่อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์
(3)     หมายเลขระบุตัวตนของทางราชการ เช่น เลขประจำตัวประชาชน หมายเลขหนังสือเดินทาง และเลขที่ใบขับขี่
(4)     ข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเกิด สถานที่เกิด สัญชาติ เชื้อชาติ น้ำหนัก ส่วนสูง ตำแหน่งที่อยู่ ความสนใจ ประวัติการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน และประวัติการทำงาน และ
(5)    ข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เช่น ตัวบ่งชี้ภายใน (Internal Identifier)
ตัวอย่างข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล
(1)     เลขทะเบียนนิติบุคคล
(2)     ข้อมูลติดต่อทางธุรกิจที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคล เช่น หมายเลขโทรศัพท์หรือโทรสาร และที่อยู่ของสำนักงานที่ใช้ร่วมกัน ที่อยู่อีเมลที่ใช้ร่วมกันสำหรับติดต่องาน และที่อยู่อีเมลที่ใช้ร่วมกันของบริษัท แต่ไม่ใช่อีเมลเฉพาะที่สามารถอ้างอิงถึงบุคคลได้ และ
(3)     ข้อมูลนิรนาม หมายถึง ข้อมูลหรือชุดข้อมูลที่ถูกทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้ด้วยวิธีทางเทคนิคใด ๆ 
นอกจากนี้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบางประเภทเป็นการพิเศษ หรือที่เรียกว่า "ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว" ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ หรือข้อมูลอื่นใดซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลในทำนองเดียวกันเดียวกันได้ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งในที่นี้หมายถึง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดการใช้งาน ห้ามมิให้แบรนด์เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวผ่านทางฟีเจอร์แบบสำรวจ (Survey Feature)
สำหรับบทบาทของแบรนด์ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ละแบรนด์มีฐานะเป็นผู้ควบคุมข้อมูล เนื่องจากแต่ละแบรนด์มีอำนาจและหน้าที่ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อมีการใช้บริการ ในขณะที่ LINE มีฐานะเป็นผู้ประมวลผลข้อมูลที่ดำเนินการตามคำสั่งหรือในนามของแบรนด์ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ต่าง ๆ จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อมีการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงหน้าที่ในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล (เฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถอาศัยฐานทางกฎหมายอื่นได้) การแจ้งรายละเอียดที่จำเป็นแก่เจ้าของข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด (เช่น โดยผ่านทางนโยบายความเป็นส่วนตัวของแบรนด์) ในก่อนหรือขณะที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การจัดการข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ การลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเก็บรักษาหรือเมื่อข้อมูลไม่จำเป็นอีกต่อไป และการดำเนินการตามสิทธิของเจ้าของข้อมูล เป็นต้น
LINE ได้เตรียมฟีเจอร์บางรายการบน LINE MyCustomer เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แบรนด์ในการปฏิบัติตามหน้าที่บางประการภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในข้อ 4. "การรับทราบนโยบายความเป็นส่วนตัวของแบรนด์ และการยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขของแบรนด์ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมเสริมเพื่อการทำแบบสำรวจ (Survey Plugin)" และข้อ 5. "การจัดการตัวเลือกแจ้งรับและแจ้งออก  (Opt in/out Management)" 

3.2.    กฎหมายควบคุมเนื้อหา
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ("พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ") กำหนดโทษเกี่ยวกับการกระทำบางประการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการกำหนดให้เนื้อหาบางรายการเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในการนำเข้าสู่ระบบออนไลน์ โดยพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ได้กำหนดให้เนื้อหาซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย
1)     โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา (เช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ (Online Scam))
2)     นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน (เช่น ข่าวลวงหรือข่าวเท็จ)
3)     นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (เช่น เนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ)
4)     นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (เช่น สื่อลามกอนาจาร)
5)     เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม 1) 2) 3) หรือ 4) (เช่น การเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย)
แบรนด์ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เนื้อหาที่สร้างหรือเผยแพร่ไม่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
LINE ในฐานะผู้ให้บริการไม่มีหน้าที่ต่อแบรนด์เป็นการเฉพาะในการติดตามหรือตรวจสอบว่า ข้อมูลใด ๆ ที่แบรนด์ได้ส่งถึงบริการ เป็นข้อมูลที่ละเมิดกฎหมายที่บังคับใช้ใด ๆ หรือไม่ เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือ ให้ความยินยอม หรือสมรู้ร่วมคิดกับแบรนด์ในการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เราอนุญาตให้บุคคลใด ๆ ร้องขอให้ลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งาน LINE สามารถรายงานเนื้อหาของคุณได้ (เช่น แบบสำรวจของแบรนด์ที่อาจมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย) เมื่อได้รับข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดตามที่กฎหมายกำหนด เราจะต้องดำเนินการนำเนื้อหาดังกล่าวออก คุณสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการยื่นคำร้องขอนำเนื้อหาที่ผิดกฎหมายออก ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ได้ที่นี่

3.3.    กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
LINE ได้ตรวจสอบให้แน่ใจแล้วว่า เนื้อหา (ตามที่นิยามไว้ด้านล่าง) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการของ LINE นั้นไม่มีการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ ดังนั้น  ตามข้อ 9 ของข้อกำหนดการใช้งาน เนื้อหา (ซึ่งหมายถึง ข้อมูลหรือเนื้อหาในรูปแบบที่แบรนด์อนุญาตให้ส่งไปยังหรือเข้าถึงได้โดยผู้ใช้งาน LINE จากการใช้บริการ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงไอคอนบัญชี (Account Icon) ข้อมูลโปรไฟล์ ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอที่ส่งโดยลูกค้า) ที่เผยแพร่โดยแบรนด์ จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น (ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงลิขสิทธิ์ ธรรมสิทธิ สิทธิในสิทธิบัตร สิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ สิทธิในผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility Model) ความลับทางการค้า สิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง สิทธิในภาพบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิในชื่อเสียง)
เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด เราอนุญาตให้บุคคลใด ๆ รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ และจะดำเนินการนำเนื้อหาที่ละเมิดดังกล่าวลง เมื่อผู้ยื่นคำร้องขอปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดครบถ้วน โดยผู้ยื่นคำร้องจะต้องแน่ใจว่าได้ตรวจสอบข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้วก่อนยื่นคำร้องขอดังกล่าว เมื่อได้รับข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดแล้ว เรามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการนำเนื้อหาดังกล่าวลงต่อไป ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการยื่นคำร้องขอนำเนื้อหาที่ผิดกฎหมายออกตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้ที่นี่ โดยไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของ LINE ในการยกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดการใช้งานหรือตามกฎหมาย ในกรณีที่แบรนด์ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาซ้ำเดิมหลายครั้ง LINE อาจยุติการให้บริการแก่แบรนด์ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า



4.    การรับทราบนโยบายความเป็นส่วนตัวของแบรนด์ และการยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขของแบรนด์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟีเจอร์เพื่อการทำแบบสำรวจ (Survey Plugin)
แบบสำรวจ (Survey) เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ซึ่งปลั๊กอิน (Plugin) เข้ากับบริการ ซึ่งอนุญาตให้แบรนด์สร้างและออกแบบแบบสำรวจเฉพาะบุคคลได้ โดยกำหนดคำถามได้อย่างอิสระเสรี และออกแบบส่วนต่าง ๆ ของแบบสำรวจได้ตามต้องการ เช่น ประเภทคำถาม และลักษณะของแบบสำรวจ และอื่น ๆ หลังจากนั้นก็สามารถส่งแบบสำรวจดังกล่าวให้กับลูกค้าของแบรนด์ (เช่น ผู้ใช้งาน LINE) นอกจากนี้ยังสามารถแชร์แบบสำรวจได้ผ่านทางลิงก์หรือรหัสคิวอาร์ (QR Code) ที่สร้างโดยฟีเจอร์ดังกล่าว
4.1.    ข้อกำหนดและเงื่อนไขของแบรนด์
ในบางกรณี ข้อกำหนดและเงื่อนไขอาจเรียกว่า "ข้อกำหนดการใช้งาน" "ข้อตกลงของผู้ใช้งาน" "ข้อกำหนดในการให้บริการ" เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าว หมายถึง เอกสารทางกฎหมายที่ระบุข้อตกลงระหว่างผู้ใช้งาน LINE กับแบรนด์ ในสาระสำคัญ ข้อกำหนดและเงื่อนไขจะระบุขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญา เช่น แบรนด์และผู้ใช้งาน LINE เงื่อนไขสำหรับการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ หน้าที่ระหว่างคู่สัญญา ขอบเขตความรับผิดชอบและความรับผิดระหว่างคู่สัญญา ความเป็นส่วนตัว สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ความรับผิด การปฏิเสธการรับผิด (Disclaimer) การเลิกสัญญา และข้อสัญญาอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว ข้อกำหนดและเงื่อนไขเหล่านี้จะจัดทำในรูปแบบสัญญามาตรฐานที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (หมายถึง ผู้ใช้งาน LINE ที่ได้เพิ่ม LINE Official Account ในรายชื่อเพื่อนของตน ("เพื่อนใน LINE Official Account")) จะต้องตกลงยอมรับเพื่อเข้าถึงหรือใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์ ดังนั้น คุณควรกำหนดข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าวอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมต่อเพื่อนใน LINE Official Account ของคุณ
สำหรับฟีเจอร์แบบสำรวจ เราขอแนะนำให้คุณเพิ่มข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ลูกค้าของคุณ (หมายถึง เพื่อนใน LINE Official Account ของคุณ) ตกลงยอมรับ ทั้งนี้ เนื้อหาของข้อกำหนดและเงื่อนไขอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับธุรกิจของคุณ หน้าที่ตามกฎหมาย และการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น โดยอาจบังคับใช้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่มีอยู่แล้วเป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ใช้บังคับกับสำหรับฟีเจอร์แบบสำรวจของคุณ หรืออาจกำหนดข้อกำหนดและเงื่อนไขแยกเฉพาะสำหรับแบบการทำสำรวจนี้ก็ได้

4.2.    นโยบายความเป็นส่วนตัวของแบรนด์
เมื่อมีการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล คุณมีหน้าที่แจ้งรายละเอียดที่จำเป็นทั้งหมดเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวให้เพื่อนใน LINE Official Account ของคุณทราบตามที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนด โดยทั่วไปแล้ว รายละเอียดที่ต้องแจ้งดังกล่าวจะจัดทำในรูปแบบของเอกสารทางกฎหมายที่เรียกว่า "นโยบายความเป็นส่วนตัว" "ประกาศความเป็นส่วนตัว" "คำชี้แจงสิทธิส่วนบุคคล" หรือชื่ออื่นที่คล้ายคลึงกัน ("นโยบายความเป็นส่วนตัว") โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แบรนด์ ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล จะต้องแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ให้เจ้าของข้อมูลทราบ ก่อนหรือในขณะที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล
(1)     วัตถุประสงค์ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงวัตถุประสงค์ที่อ้างอิงตามฐานทางกฎหมายที่อนุญาตให้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล
(2)     ความจำเป็นในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติตามกฎหมายและการเข้าทำสัญญา รวมทั้งการแจ้งถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ จากการที่เจ้าของข้อมูลปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น
(3)     ข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเก็บรวบรวม
(4)     ระยะเวลาในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล หรือระยะเวลาเก็บรักษาที่อาจคาดหมายได้ ในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาเก็บรักษาที่ชัดเจนได้
(5)     ประเภทของบุคคลหรือหน่วยงานซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมอาจถูกเปิดเผย
(6)     ข้อมูล ที่อยู่ และช่องทางการติดต่อของผู้ควบคุมข้อมูล (เช่น แบรนด์) และเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลที่ได้รับแต่งตั้งจากแบรนด์ (ถ้ามี) ตามที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนด
(7)     สิทธิของเจ้าของข้อมูล
(8)     ฐานทางกฎหมาย (ตามแนวทางการดำเนินการในการแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) และ
(9)     รายละเอียดเกี่ยวกับการส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ (ตามแนวทางการดำเนินการในการแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)
ด้วยเหตุนี้ แต่ละแบรนด์ ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล จึงมีหน้าที่แจ้งรายละเอียดดังกล่าวให้ผู้เข้าตอบแบบสำรวจทราบ ก่อนดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับผ่านทางฟีเจอร์แบบสำรวจหรือด้วยวิธีอื่นใดตามที่แบรนด์เห็นสมควร เราขอแนะนำให้คุณจัดเตรียมนโยบายความเป็นส่วนตัวที่สอดคล้องตามกฎหมายไว้สำหรับแจ้งให้เจ้าของข้อมูล ซึ่งเป็นเพื่อนในบัญชี LINE Official Account ของคุณทราบก่อนหรือในขณะที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล โดยอาจบังคับใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวที่มีอยู่แล้วเป็นนโยบายความเป็นส่วนตัวที่บังคับใช้ หรืออาจจัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัวฉบับใหม่แยกเฉพาะสำหรับแบบสำรวจก็ได้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า นโยบายความเป็นส่วนตัวครอบคลุมกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแบบสำรวจ

4.3.    ช่องทางในการได้รับความตกลงยอมรับและรับทราบ
LINE MyCustomer อนุญาตให้แบรนด์ต่าง ๆ จัดส่งข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัวของแบรนด์แก่ลูกค้าได้ โดยการเพิ่มเอกสารดังกล่าวในแบบสำรวจ ในระหว่างการสร้างแบบสำรวจ ในหน้า "สร้างแบบสำรวจ (Create Survey)" คุณสามารถเพิ่มข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัวในแบบสำรวจได้ 2 วิธี ดังนี้
(1)     แนบลิงก์หน้านโยบายความเป็นส่วนตัว และข้อกำหนดและเงื่อนไขบนเว็บไซต์ของคุณหรือของเว็บไซต์บุคคลภายนอกที่แสดงนโยบายความเป็นส่วนตัว และข้อกำหนดและเงื่อนไขของคุณ โดยลิงก์ดังกล่าวจะแสดงไว้ในหน้าแบบสำรวจ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถคลิกลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลายทางได้ หรือ
(2)     แนบข้อมูลนโยบายความเป็นส่วนตัว และข้อกำหนดและเงื่อนไขของคุณในรูปแบบข้อความล้วน โดยฟีเจอร์สามารถรองรับข้อความสูงสุดได้ไม่เกิน 5,000 ตัวอักษรสำหรับเอกสารแต่ละฉบับ โดยข้อกำหนดและเงื่อนไขจะแสดงไว้ในหน้าแบบสำรวจโดยครบถ้วนตามเนื้อหาที่คุณเพิ่มไว้ทั้งหมด และอนุญาตให้ผู้ทำแบบสำรวจเลื่อนอ่านได้จนจบ
นอกจากนี้ คุณยังสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัวปรากฏในหน้าแบบสำรวจเมื่อใด โดยเลือกลักษณะการจัดวางข้อความดังต่อไปนี้
(1)     ก่อนเริ่มทำแบบสำรวจ - จัดวางหรือกำหนดให้ปรากฏข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัวไว้ก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้ทำแบบสำรวจเห็นหรือเริ่มทำแบบสำรวจ โดยผู้ทำแบบสำรวจจะต้องตกลงยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไข และรับทราบนโยบายความเป็นส่วนตัวก่อนจึงจะสามารถเริ่มทำแบบสำรวจได้
(2)     ก่อนส่งแบบสำรวจ - จัดวางหรือกำหนดให้ปรากฏข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัวไว้ก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้ทำแบบสำรวจส่งแบบสำรวจได้ โดยผู้ทำแบบสำรวจจะต้องตกลงยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไข และรับทราบนโยบายความเป็นส่วนตัวก่อนจึงจะสามารถกดส่งแบบสำรวจได้
(3)     ก่อนส่งแบบสำรวจ (ในกรณีแนบลิงก์เท่านั้น) - ข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัวจะแสดงในรูปแบบไฮเปอร์ลิงก์ (Hyperlink) และจะถูกจัดวางหรือกำหนดให้ปรากฏลิงก์ดังกล่าวก่อนที่จะอนุญาตให้ส่งแบบสำรวจ โดยผู้ทำแบบสำรวจจะต้องตกลงยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไข และรับทราบนโยบายความเป็นส่วนตัวก่อนจึงจะสามารถกดส่งแบบสำรวจได้

5.    การจัดการตัวเลือกแจ้งรับและแจ้งออก (Opt in/out Management)
การจัดการตัวเลือกแจ้งรับ (Opt-in) หรือแจ้งออก (Opt-out) เป็นฟีเจอร์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งาน LINE ที่เป็นเพื่อนในบัญชี LINE Official Account เปลี่ยนการตั้งค่า Opt-in หรือ Opt-out ในส่วนที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยแบรนด์ โดยฟีเจอร์นี้จะครอบคลุมกรณีที่ (1) แบรนด์จำเป็นต้องได้รับ Opt-in จากเพื่อนในบัญชี LINE Official Account ของแบรนด์ หรือ (2) แบรนด์จำเป็นต้องเสนอตัวเลือกในการแจ้งออก (Opt-out) หรือคัดค้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลแก่เพื่อนใน LINE Official Account โปรดดูตัวอย่างด้านล่างเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจและทราบว่าควรใช้ฟีเจอร์ตัวเลือก Opt-in หรือ Opt-out เมื่อใด

ตัวอย่างที่ 1: ตัวเลือกแจ้งออก (Opt-out)
แบรนด์ ก ประสงค์จะเก็บรวบรวมข้อมูลของเพื่อนใน LINE Official Account ผ่านทางฟีเจอร์แบบสำรวจ เพื่อนำไปใช้ (1) วิเคราะห์ความสนใจของเพื่อนใน LINE Official Account เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ และ (2) ส่งข้อความทางการตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ก ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เพื่อนใน LINE Official Account เคยได้ซื้อไปและอาจอยู่ในความสนใจของเพื่อนใน LINE Official Account เหล่านั้น ผ่านทาง SMS และอีเมล เมื่อแบรนด์ ก ได้พิจารณาและปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายของแบรนด์ ก แล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากเพื่อนใน LINE Official Account เนื่องจากแบรนด์ ก สามารถอาศัยฐานเพื่อผลประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
แบรนด์ ก อาจสร้างตัวเลือก Opt-out โดยกำหนดให้มี 2 ตัวเลือก ผ่านทางฟีเจอร์การจัดการตัวเลือกแจ้งรับและแจ้งออก เพื่ออนุญาตให้เพื่อนใน LINE Official Account สามารถเลือกว่าจะแจ้งออก (Opt-out) หรือคัดค้านการนำข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และเพื่อวัตถุประสงค์ในการสื่อสารทางการตลาดหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเสนอตัวเลือกแจ้งออก ตัวเลือกจึงถูกเปิดไว้เป็นค่าเริ่มต้น เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้แบรนด์ ก ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม อย่างไรก็ตาม เพื่อนใน LINE Official Account จะสามารถเลือกเปลี่ยนเป็นตัวเลือกเป็นปิดได้เพื่อเป็นการแจ้งออกหรือคัดค้านการประมวลผลดังกล่าวได้ตลอดเวลาตามที่กฎหมายอนุญาต

ตัวอย่างที่ 2: ตัวเลือกแจ้งรับ (Opt-in)
แบรนด์ ข ประสงค์ที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเพื่อนใน LINE Official Account ผ่านทางฟีเจอร์แบบสำรวจ และนำข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวไปใช้เพื่อ (1) วิเคราะห์ความสนใจของเพื่อนใน LINE Official Account เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลของเพื่อนใน LINE Official Account ให้กับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อื่น ๆ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อื่น ๆ นั้น และ (2) ส่งข้อความทางการตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ข และผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เพื่อนใน LINE Official Account เคยได้ซื้อไป ผ่านทาง SMS และอีเมล เมื่อแบรนด์ ข ได้พิจารณาและปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายของแบรนด์ ข แล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องขอความยินยอมจากเพื่อนใน LINE Official Account ของแบรนด์ เนื่องจากแบรนด์ ข ไม่สามารถอาศัยฐานทางกฎหมายใด ๆ ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการละเว้นการขอความยินยอมดังกล่าวได้
แบรนด์ ข อาจสร้างตัวเลือก Opt-in โดยกำหนดให้มี 2 ตัวเลือก ผ่านทางฟีเจอร์การจัดการตัวเลือกแจ้งรับและแจ้งออก - เพื่ออนุญาตให้เพื่อนใน LINE Official Account สามารถเลือกว่าจะแจ้งรับ (Opt-in) หรือให้ความยินยอมในการนำข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวที่จำเป็นต้องขอความยินยอมก่อนหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเสนอตัวเลือกแจ้งรับ ตัวเลือกจึงถูกปิดไว้เป็นค่าเริ่มต้น เพื่อนใน LINE Official Account จะต้องทำการเลือกเปลี่ยนเป็นตัวเลือกแจ้งรับ/ให้ความยินยอมด้วยตัวพวกเขาเอง
ก่อนที่จะใช้ฟีเจอร์การจัดการตัวเลือกแจ้งรับและแจ้งออกนี้ แบรนด์ ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล มีหน้าที่ปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายของแบรนด์ก่อนว่า กิจกรรมการประมวลผลใด ๆ จำเป็นต้องขอรับความยินยอมก่อนหรือไม่
ฟีเจอร์การจัดการตัวเลือกแจ้งรับและแจ้งออกนี้จะช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถกำหนดตัวเลือกเพื่ออนุญาตให้เพื่อนใน LINE Official Account สามารถเลือกการตั้งค่าได้ด้วยตัวเองตามต้องการ (Preferences) ไม่ว่าในกรณีที่จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมหรือไม่ก็ตาม และช่วยให้แบรนด์สามารถเลือกกรองข้อมูล (Filter) เพื่อนใน LINE Official Account ดังกล่าวเข้าหรือออกผ่านทางโปรแกรมเสริมผู้ชม (Audience Plugin) เพื่อการใช้งานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้
ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล แบรนด์มีหน้าที่ติดตามข้อมูลการตั้งค่าแจ้งรับหรือแจ้งออกของเพื่อนใน LINE Official Account ดังนั้น แบรนด์ต่าง ๆ จึงต้องคอยปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
โปรดทราบว่า ข้อมูลการแจ้งรับหรือแจ้งออกจากฟีเจอร์การจัดการตัวเลือกแจ้งรับหรือแจ้งออกจะแสดงเฉพาะข้อมูลการแจ้งรับหรือแจ้งออกผ่านทางฟีเจอร์ดังกล่าวเท่านั้น หากเพื่อนใน LINE Official Account เลือกที่จะแจ้งออก/ไม่อนุญาต (Opt-out) ผ่านทางช่องทางอื่น (เช่น การสนทนากับแบรนด์ หรือโทรติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของแบรนด์) ข้อมูลการเลือกแจ้งรับหรือแจ้งออกในช่องทางอื่นจะไม่ถูกเก็บรวบรวมอยู่ในฟีเจอร์นี้ ดังนั้น แบรนด์จึงต้องติดตามและจัดการข้อมูลที่ได้จากฟังก์ชันการสนทนาและการโทรแยกต่างหากเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

6.    การเปลี่ยนการตั้งค่าตัวเลือก
หน้าการตั้งค่าตัวเลือก (Preferences Setting) ที่อนุญาตให้เพื่อนใน LINE Official Account สามารถเปลี่ยนการตั้งค่าของตนเองได้จะไม่ปรากฏอยู่ในหน้าการตั้งค่าบนแอปพลิเคชัน LINE หรือในปลั๊กอินแชท (Chat Plugin) ดังนั้น เพื่อให้เพื่อนใน LINE Official Account สามารถเข้าถึงหน้านี้ได้ เราขอแนะนำให้แบรนด์เพิ่มหน้าการตั้งค่าตัวเลือกดังกล่าวลงในเมนูลัดในแชท (Rich Menu) โดยเพื่อนใน LINE Official Account จะสามารถเข้าถึง Rich Menu ดังกล่าวได้เมื่อใช้ฟีเจอร์แชท (Chat Feature) ในการติดต่อกับแบรนด์ เพื่อเป็นการเปิดการมองเห็นหน้า Preferences Setting ให้แก่เพื่อนใน LINE Official Account ของแบรนด์
LINE MyCustomer จะแจ้งให้คุณทราบเป็นระยะ ๆ เมื่อเพื่อนใน LINE Official Account เปลี่ยนการตั้งค่าแจ้งรับ หรือแจ้งออก โดยการแจ้งเตือนในแอปพลิเคชัน แต่จะไม่ได้แจ้งเตือนแบบทันที (real-time) ดังนั้น แบรนด์ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล จะต้องติดตามและตรวจสอบให้แน่ใจว่า ข้อมูลการตั้งค่าแจ้งรับ หรือแจ้งออกของคุณเป็นปัจจุบัน ก่อนที่จะดำเนินการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
เช่นเดียวกันกับฟีเจอร์ส่งออกข้อมูล (Export Feature) LINE MyCustomer อนุญาตให้แบรนด์ต่าง ๆ ส่งออกข้อมูลการตั้งค่าแจ้งรับ หรือแจ้งออกในรูปแบบไฟล์นามสกุล CSV อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการแจ้งออกอาจไม่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่สุดอยู่เสมอ และอาจใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมงในการอัปเดตข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบ แบรนด์ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล มีหน้าที่แต่เพียงผู้เดียวในการตรวจสอบให้แน่ใจว่า ข้อมูลการตั้งค่าแจ้งรับหรือแจ้งออกที่จะนำไปใช้นั้นได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่สุดแล้ว
โปรดทราบว่า LINE จะอำนวยความสะดวกในการจัดการตัวเลือกแจ้งรับหรือแจ้งออกของคุณเท่านั้น แบรนด์ถือเป็นผู้ควบคุมข้อมูล และ LINE มีเพียงหน้าที่ในการดำเนินการตามคำสั่งของแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น แบรนด์จะต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายของคุณ
เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการตั้งค่าตัวเลือกแจ้งรับหรือแจ้งออก (เช่น เปลี่ยน เพิ่ม หรือลบข้อความแจ้งรับหรือแจ้งออก) ระบบจะแจ้งให้คุณทราบว่า "คุณได้ปรับปรุงข้อความใหม่ ซึ่งอาจกระทบต่อคำตอบที่เคยได้รับ คุณต้องการที่จะรีเซ็ตคำตอบที่เคยได้รับหรือจะเก็บคำตอบที่เคยได้รับไว้ตามเดิม ทั้งนี้ เมื่อคุณรีเซ็ตคำตอบแล้ว คำตอบที่ได้บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ทั้งหมดจะถูกลบ และไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้"
(1)     หากคุณเลือก "เก็บ" - คำตอบที่ได้บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ทั้งหมดจะถูกเก็บบันทึกไว้ในระบบ และยังคงสามารถเข้าถึงได้ จนกว่าคุณจะตัดสินใจลบออกในภายหลัง
ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถติดตามประวัติการให้ความยินยอมของเจ้าของข้อมูล ตลอดจนการใช้สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม และสิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแบรนด์ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น แบรนด์ ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล มีหน้าที่ติดตามและตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนด
(2)     หากคุณเลือก "รีเซ็ต" - คำตอบที่ได้บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ทั้งหมดจะถูกลบ และบันทึกคำตอบทั้งหมดจะไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป รวมทั้งไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้ จากนั้น LINE MyCustomer จะเริ่มบันทึกคำตอบสำหรับข้อความตัวเลือกแจ้งรับหรือแจ้งออกที่อัปเดตใหม่
(3)     หากคุณเลือก "ยกเลิก" - ระบบจะไม่เก็บบันทึกการเปลี่ยนแปลงข้อความของคุณ และจะไม่ดำเนินการใด ๆ กับคำตอบที่เคยได้รับ


7.    การจัดการการเก็บรักษาข้อมูล
LINE MyCustomer จัดให้มีการจัดการการเก็บรักษาข้อมูล (Retention Management) ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่อนุญาตให้แบรนด์จัดการระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมและจัดเก็บไว้บน LINE MyCustomer สำหรับฟีเจอร์ต่าง ๆ โดย
แบรนด์สามารถกำหนดระยะเวลาเก็บรักษาข้อมูลของแต่ละฟีเจอร์ได้ (เช่น ข้อมูลจากฟีเจอร์ผู้ชม (Audience Feature) ฟีเจอร์ติดตามลิงก์ (Link Tracking Feature) ฟีเจอร์แบบสำรวจ (Survey Feature) การตั้งค่าของผู้ใช้งาน (User Preference) ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) และข้อมูล Facebook (Facebook data)) เพื่อความสะดวกให้แบรนด์ในการจัดการการจัดเก็บข้อมูลเมื่อใช้บริการ
โปรดทราบว่า ฟีเจอร์การจัดการการเก็บรักษาข้อมูลนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แบรนด์ต่าง ๆ นำไปใช้ในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แบรนด์ยังคงมีหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายที่บังคับใช้กับแบรนด์ที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาข้อมูล รวมถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาข้อมูล ดังนั้น นอกเหนือจากฟีเจอร์นี้ แบรนด์จะต้องมีระบบและขั้นตอนการเก็บรักษาข้อมูลของแบรนด์เองเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

ภายใต้ฟีเจอร์นี้ แบรนด์สามารถเลือกกำหนดระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลตามตัวเลือกได้ดังนี้
•    90 วัน (โปรดทราบว่า 90 วัน เป็นระยะเวลาเก็บรักษาขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ)
•    180 วัน
•    365 วัน

การเริ่มนับเวลาการเก็บรักษาข้อมูลสำหรับแต่ละฟีเจอร์ที่ถูกเลือกโดยแบรนด์จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของฟีเจอร์นั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การเริ่มนับระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลสำหรับฟีเจอร์แบบสำรวจจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเผยแพร่แบบสำรวจ ในขณะที่ฟีเจอร์ติดตามลิงก์ (link tracking) หรือฟีเจอร์กลุ่ม (Groups) ระยะเวลาจะเริ่มนับจากปฏิสัมพันธ์ครั้งล่าสุดของผู้ใช้งาน LINE 
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่แบรนด์กำหนดไว้ดังกล่าว ข้อมูลจะถูกลบออกทั้งหมด และแบรนด์จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลจะไม่มีผลย้อนหลัง และจะไม่กระทบต่อระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ คุณควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกกำหนดระยะเวลาเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่า ระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลนั้นสอดคล้องกับข้อมูลที่คุณต้องการเก็บรักษา เราขอแนะนำให้คุณปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายของคุณ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกำหนดระยะเวลาเก็บรักษาข้อมูลที่เหมาะสม ในกรณีที่มีการยุติบริการ (รวมถึงกรณีที่แบรนด์ยกเลิกการใช้ LINE MyCustomer) แบรนด์มีหน้าที่จัดการข้อมูลที่จัดเก็บไว้บน LINE MyCustomer ก่อนการยุติบริการดังกล่าว ทั้งนี้ LINE ไม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลใด ๆ ที่จัดเก็บไว้บน LINE MyCustomer เมื่อการให้บริการยุติลง

ข้อมูลที่จัดเก็บไว้โดย LINE จะถูกลบหลังการยุติบริการ อย่างไรก็ตาม แบรนด์อาจร้องขอให้เรียกคืนข้อมูลได้เมื่อมีการต่ออายุบริการภายใน 90 วันนับจากวันที่ระงับหรือยุติบริการ


วันที่ประกาศใช้:    17 สิงหาคม 2566